”วัชระ” บี้ “บิ๊กตู่-อภิศักดิ์” ปลดบอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ยกคณะ หลังทำผิดกฎหมายซ้ำซาก แถมบอร์ด 3 ใน 5 ยังขัด พ.ร.บ.คุณสมบัติ บี้ "สมคิด" รับผิดชอบ ฐานเสนอชื่อ "สาลินี" นั่ง ปธ.บอร์ด ทั้งที่มีคดีทุจริต
วันที่ 28 ส.ค. นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ หลังจากที่ นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ได้ลาออกจากตำแหน่งไป เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา จากกรณีปัญหาการทุจริต อาทิ การอนุมัติสินเชื่อโดยหละหลวมของบอร์ด ให้กับ ห้าง หจก.โรงสีข้าวจงเจริญ วงเงิน 125 ล้านบาท ซึ่งรับรีไฟแนนซ์ลูกหนี้จากธนาคารอื่น ขณะที่ลูกหนี้หยุดกิจการแล้ว และมีปัญหาในการชำระหนี้กับธนาคารเดิม เมื่อเอสเอ็มอี แบงก์ รับรีไฟแนนซ์ก็ได้รับการชำระหนี้เพียงงวดเดียว ซึ่งการอนุมัติดังกล่าวยังขัดคำสั่งของ รมว.คลัง และซุปเปอร์บอร์ด ที่ห้ามไม่ให้ปล่อยสินเชื่อในลักษณะรับรีไฟแนนซ์ลูกหนี้ที่มีปัญหาจากธนาคารอื่น โดยเน้นให้ปล่อยสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นการลาออกของนางสาลินี คนเดียว ไม่เพียงพอ เพราะเป็นการอนุมัติโดยบอร์ด บอร์ดทั้งคณะควรต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีตาม พ.ร.บ.เอสเอ็มอี แบงก์
นายวัชระ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้บอร์ดชุดนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ในกรณีที่ตัวเองมีส่วนได้เสียซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.เอสเอ็มอี แบงก์ มาตรา 20 ที่กำหนดว่า กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสีย ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ห้ามมิให้ผู้นั้นเข้าประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าว จนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องทำหนังสือให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่บอร์ดชุดนี้กลับอยู่ร่วมในการพิจารณาตั้งคณะกรรมการตามคำสั่งของ ธปท. ถือว่าเข้าข่ายผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.เอสเอ็มอี แบงก์ จนเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 17 ของกฎหมายดังกล่าว และยังส่อว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ผิดของพนักงานในองค์การ หรือ หน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีโทษทางอาญาด้วย
...
นายวัชระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรณีการตั้งกรรมการสรรหา กรรมการผู้จัดการที่ขาดคุณสมบัติ โดย 3 คน จาก 5 คน คือ นายเวทย์ นุชเจริญ มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานฯ เพราะดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ บริษัทศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด ที่ทำธุรกิจลักษณะเดียวกับเอสเอ็มอี แบงก์ โดยบริษัทในเครือเป็นผู้ประมูลซื้อหนี้เอ็นพีแอลจากเอสเอ็มอี แบงก์ หลายครั้ง ซ้ำยังดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท ทิพยประกันภัย ซึ่งได้รับงานประกันอัคคีภัยของลูกหนี้เอสเอ็มอี แบงก์ โดยต่อเนื่อง และเคยเป็นรองกรรมการผู้จัดการอาสุโส ธนาคารกรุงไทย ซึ่งทำธุรกรรมการเงินเช่นเดียวกับเอสเอ็มอี แบงก์ จึงถือเป็นนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสีย เกี่ยวข้องกับกิจการของเอสเอ็มอี แบงก์
2. นางพรรณขนิตตา บุญครอง ประธานกรรมการสรรหา ซึ่งเป็นกรรมการ บ.ทิพยประกันภัย ด้วย 3. นางเสาวณีย์ กมลบุตร เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารทหารไทย จึงมีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับนายเวทย์ เมื่อกรรมการสรรหา 3 ใน 5 คน มีลักษณะต้องห้าม จึงทำให้การสรรหาให้ นายมงคล ลีลาธรรม เป็นกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอี แบงก์ คนปัจจุบันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในกรณีนี้ บอร์ดไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งขั้นตอนการสรรหาและแต่งตั้ง ทำให้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งอาจเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด
“กรณีนี้คล้ายคลึงกับคดีที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญา จากการคัดเลือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของแบงก์ชาติไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีการยกเลิกไปก่อนได้รับการแต่งตั้ง แต่ยังถูกตัดสินว่า มีความผิด ดังนั้นในกรณีนี้ เมื่อการแต่งตั้งไม่ถูกต้อง และผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งมาแล้ว ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59 จึงถือว่า เป็นกรณีที่สร้างความเสียหายมากกว่า ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ซึ่งกำกับดูแลเอสเอ็มอี แบงก์ เร่งดำเนินการโดยเร็ว และขอให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เสนอชื่อนางสาลินี เป็นประธานบอร์ดเอสเอ็มอี แบงก์ รวมถึงขอให้นางสาลินี ลาออกจากตำแหน่ง ผอ.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจ มาตรา 44 แต่งตั้งด้วย เพราะตำแหน่งนี้ต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น แต่ขณะนี้นางสาลินี ไม่ได้เป็นข้าราชการแล้ว” นายวัชระ กล่าว.