เมื่อวันจันทร์ WIPO องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก ร่วมกับ มหาวิทยาลัยคอร์เนล และ INSEAD ได้ประกาศผลการจัดอันดับ ดัชนี นวัตกรรมโลก Global Innovation Index 2016 และ ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ใน อันดับที่ 52 จาก 128 ประเทศ ก็ถือว่ากลางๆ และ เป็นที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจาก สิงคโปร์ และ มาเลเซีย
อย่างไรก็ดี WIPO ได้แสดงความเป็นห่วงว่า การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาปี 2014 ที่ผ่านมา มีการเติบโตเพียง 4% ลดลงจาก 7% ในช่วงก่อนวิกฤติการเงินปี 2009 ผลจากเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่เติบโตช้าลง และการจำกัดงบประมาณของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะยาว
ปีนี้ ประเทศจีน ติดอันดับท็อป 25 ของโลก โดยอยู่ใน อันดับที่ 25 และเป็นปีแรกที่ ประเทศรายได้ปานกลาง ติดอันดับท็อป 25 เคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมี สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีนวัตกรรม อันดับ 1 ของโลก อันดับ 2 สวีเดน อันดับ 3 อังกฤษ อันดับ 4 สหรัฐฯ อันดับ 5 ฟินแลนด์
ในท็อป 25 มีประเทศในเอเชียติดอันดับ 5 ประเทศคือ สิงคโปร์ อันดับ 6 เกาหลีใต้ อันดับ 11 ฮ่องกง อันดับ 14 ญี่ปุ่น อันดับ 16 จีน อันดับ 25 วันนี้ นวัตกรรมโลก เปลี่ยนแปลงเร็วมากจนเกิดนวัตกรรมที่เรียกว่า Disruptive Technology หรือ เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก อันเป็นผลมาจากการคิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกภาคส่วน Disruptive Technology จึงไม่ได้หมายถึงด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงธุรกิจและบริการทุกอย่างไปจนถึงวัฒนธรรมทางสังคมด้วย
วันก่อน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ ผู้จุดประกายนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ได้พูดในงาน IP Fair 2016 ว่า เมื่อ “โมเดลของโลกอนาคต” เปลี่ยนไป คนไทยจะอยู่ในสังคมโลกนี้ได้อย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับ วัฒนธรรมใหม่ในการใช้ชีวิต วัฒนธรรมใหม่ในการเรียนรู้ และ วัฒนธรรมใหม่ในการทำงาน จากนวัตกรรมชุดใหม่ของโลกที่เรียกว่า Open Innovation Economy
...
แนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นจะถูกบรรจุไว้เป็นข้อมูลดิจิตอล และแบ่งกันใช้ ก่อให้ เกิด Sharing Society สังคมแบ่งปัน ตามมา พร้อมกับก่อให้เกิดธุรกิจต่างๆ ตามมาอีกมากมายภายใต้แนวคิด Sharing Economy เช่น Uber Taxi, Airbnb, Co–working Space, Crowd Company เป็นต้น
ดร.สุวิทย์ ฟันธงว่า โลกในศตวรรษที่ 21 จะเป็นโลกของนวัตกรรม ผสมผสานกับเทคโนโลยีมากมาย จะก่อให้เกิด Disruptive Technology นำไปสู่ Disruptive Economy และกลายเป็น Disruptive Business ในที่สุด บทสรุปนี้จึงเป็นที่มาของแนวคิด “ประเทศไทย 4.0” เพื่อปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ปรับเปลี่ยนจาก เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ เป็น เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และรื้อข้อต่อที่สองด้วยการ ปฏิรูปการวิจัยและพัฒนา เพื่อเน้นวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์และต่อด้วยเรื่องใหญ่ที่สุดคือ การปฏิรูปคนและปฏิรูปการศึกษา เพื่อสร้าง “คนไทย 4.0” ที่จะนำประเทศไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ในอนาคต
สาระของ “ประเทศไทย 4.0” คือ ทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนคนไทยจาก ทำงานมากแต่ได้น้อย เป็นทำน้อยแต่ได้มาก เพื่อหลุดพ้นจาก ประเทศกับดัก รายได้ปานกลาง ไปเป็น ประเทศที่มีรายได้สูง และ รวยด้วยปัญญา
ผมเห็นด้วยกับ ดร.สุวิทย์ ทุกอย่าง หากไม่เปลี่ยนก็ต้องดับเหมือนอย่าง โกดัก ผู้ผลิตฟิล์มถ่ายรูปยักษ์ใหญ่ของโลก ที่ต้องดับไปเพราะ กล้องดิจิตอล แต่ที่เป็นห่วงก็คือถ้าคนไทยส่วนใหญ่เปลี่ยนไม่ทัน มันจะเกิด Economic Disparities ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มากขึ้นในอนาคต เราจะแก้ไขปัญหานี้กันอย่างไร.
“ลม เปลี่ยนทิศ”