กต.ประสานมือ กรธ.ตั้งโต๊ะแจงทูต 48 ประเทศ หลังไทยทำประชามติ "ร่าง-คำถามพ่วง" เสร็จสิ้น ขอนานาชาติเข้าใจสถานการณ์ในไทย ยันต้องใช้เวลาสร้าง ปชต.-ความมั่นคง ย้ำยึดโรดแม็ป เดินหน้าสู่การเลือกตั้งในปี 60

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 59 ที่ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ พร้อมด้วย นายศุภชัย ยาวะประภาษ สมาชิกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายเจษฎ์ โทณวณิก ที่ปรึกษา กรธ. ร่วมกันบรรยายสรุปเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ให้กับคณะทูตต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และสภาหอการค้าต่างประเทศ จำนวน 80 คน จาก 48 แห่ง ซึ่งมีเอกอัครราชทูต 11 คน และอุปทูต 8 คน

นายดอน กล่าวตอนหนึ่งว่า ในการจัดทำประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏตัวเลขผู้มาใช้สิทธิออกเสียงครั้งนี้สูงกว่าเมื่อปี 2550 ซึ่งแสดงถึงความกระตือรือร้นของประชาชนในการมีส่วนร่วม และประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามเพิ่มเติม ทำให้มีความชัดเจนถึงแผนโรดแม็ปของรัฐบาล ว่าจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในปี 2560 โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะยังเดินหน้าส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยและความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของประเทศในอนาคต
    
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้คณะทูต และผู้แทนต่างประเทศ ถาม-ตอบ ซึ่งทูตต่างประเทศคนหนึ่ง สอบถามถึงการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยนายดอน ชี้แจงว่า คสช. จะยังคงมีอยู่จนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ 
    
ด้านผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย สอบถามถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ขณะที่ผู้แทนจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) ถามถึงช่วงเวลาการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยนายศุภชัย กล่าวว่า กรธ. จะขอความเห็นเป็นเอกสารจากพรรคการเมืองต่างๆ และจะเชิญมาพูดคุยด้วย โดยจะเปิดรับฟังความเห็นให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และขอยืนยันว่าการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพื่อให้ประชาชนรู้สึกยึดโยงกับรัฐธรรมนูญและระบบการเมืองใหม่ ส่วนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้ได้เริ่มร่างอย่างไม่เป็นทางการแล้ว เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด แต่ต้องคำนึงถึงการรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

...

นอกจากนี้ ทูตต่างประเทศยังสอบถามถึงการยกเลิกคำสั่งของ คสช. ที่จำกัดเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงออก ซึ่งนายดอน กล่าวว่า เป็นไปได้ที่จะมีการผ่อนคลายคำสั่ง โดยขึ้นอยู่กับสภาพบ้านเมืองว่าต้องมีความสงบเรียบร้อย และตนหวังว่าจะยกเลิกได้โดยเร็วเช่นกันเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้และให้คนไทยได้มีความสงบที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุย ส่วนตัวเห็นว่าประเทศไทยมีความปกติเรียบร้อย อาทิ ผลการสำรวจจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่ยกให้ไทยเป็นประเทศที่มีความทุกข์น้อยที่สุดในโลก สำหรับการสนับสนุนจากต่างประเทศนั้น ตนหวังว่าประเทศต่างๆ จะคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในไทยที่ทุกอย่างสงบเรียบร้อยและกำลังเดินหน้า อีกทั้ง ตนหวังว่าประเทศอื่นจะไม่มีการออกแถลงการณ์ต่างๆ อีก และขอให้ต่างประเทศเคารพการตัดสินใจของคนไทย รวมถึงขอให้สนับสนุนการเดินหน้าของรัฐบาลไทยต่อไปด้วย

นายดอน กล่าวต่อว่า ผลการออกเสียงครั้งนี้เป็นการแสดงออกของพลังเงียบ เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมไทยที่จะไม่แสดงความเห็นแตกต่าง แต่เมื่อผลเป็นเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนมากมองว่าประเทศมีความสงบเรียบร้อยมาตลอด 2 ปี และต้องการให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เพราะเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่กองทัพจะเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเป็นประชาธิปไตย โดยไม่ได้จำกัดสิทธิ และประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าตัวแทนทูตต่างประเทศที่ประจำการในไทยจะนำเรื่องดังกล่าวไปชี้แจงให้กับประเทศของตัวเองรับทราบ ซึ่งหากประเทศนั้นๆ เป็นผู้มีมาตรฐานสากล ตนเชื่อว่าเขาจะไม่ลำบากใจในการเคารพเสียงคนไทยเหมือนกับเสียงของประเทศต่างๆ แต่หากทำใจลำบาก ก็เข้าใจได้ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในไทยด้วย อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้คณะทูตไทยในทุกประเทศนำข้อมูลไปชี้แจงให้รัฐบาลของแต่ละประเทศ และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทราบว่าประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ เนื่องจากใกล้จะครบ 1 ปีแล้ว และสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไป เราก็อาจเรียกประชุมทูตไทยที่ประจำการทั่วโลกในเร็วๆ นี้ เพื่อเน้นย้ำบางเรื่อง และแลกเปลี่ยนการพูดคุย

"สำหรับคนที่ออกมาเรียกร้องให้รีบจัดการเลือกตั้งนั้น ที่จริงไม่ได้เป็นเหมือนกับการข้ามถนนไปซื้อขนมที่เซเว่น เพราะการเตรียมการเพื่อนำประเทศก้าวเดินต่อไปในอนาคต ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยต้องมีสันติสุขและเสรีภาพ กระบวนการที่จะสร้างประเทศที่มั่นคงนั้นต้องใช้เวลาเท่าไร แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการไว้แล้วเพื่อให้ใช้เวลาที่มีให้มากที่สุด" นายดอน กล่าว

นายดอน กล่าวอีกว่า ในบางประเทศที่เข้าใจก็แสดงออกชัดเจนถึงความร่วมมือให้ไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้า เพราะรับรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาโดยง่าย ไทยต้องผ่านช่วงเวลาหลายปีแห่งความวุ่นวายที่ต้องเสียโอกาสและเลือดเนื้อที่ต้องหลั่ง การทำประชามติไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ถือเป็นเสียงของประชาชนที่บอกว่าต้องการรัฐธรรมนูญแบบนี้ แต่บางประเทศก็มีความยึดติดกับข้อมูล หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้การรับรู้ช้า และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงท่าทีโดยฉับพลันได้ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะใช้เวลาแสดงความเป็นมิตรกับไทยในอีกไม่นาน และหวังว่าไม่เพียงแต่นานาประเทศจะร่วมเดินหน้าไปกับเรา แต่ขอคนไทยทุกคนช่วยกันในเรื่องทัศนคติและทุกๆ อย่าง เพื่อเดินหน้าไปด้วยกัน

ด้าน นายเจษฎ์ กล่าวถึงการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในการร่างกฎหมายลูกนั้นสามารถรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนไปพร้อมๆ กันได้ แต่การกำหนดระยะเวลานั้นยังไม่ได้ข้อสรุป สำหรับข้อสงสัยที่ว่าจะยืนยันได้หรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2560 คงต้องไปถามผู้มีอำนาจในตอนนี้ ขณะเดียวกัน ตนขอถามประชาชนว่าพร้อมที่จะนำพาประเทศไปสู่ทางที่ดีก่อนการเลือกตั้งหรือไม่