อ.อ.ป.แจงปมตัดไม้สักสวนป่าแม่หอพระมาทำรัฐสภาใหม่ ยันเป็นป่าที่ปลูกขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเศรษฐกิจ ไม่ใช่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปลูกมากว่า 30 ปี ไม่เคยตัดเลย จนกลายเป็นป่าสักผืนงาม แต่เมื่อนายกฯสั่งให้ยุติตัดไม้ ก็ยินดีคืนพื้นที่ให้ 1,200 ไร่ แต่ขอคิดค่าชดเชย ด้าน ประธาน สนช. นัดถกแก้ปมไม้สัก 25 ก.ค.นี้ เพื่อหาทางออกไม่ให้เกิดเสียค่าโง่
จากกรณีที่มีกระแสข่าวจะมีการเตรียมตัดไม้สักในพื้นที่สวนป่าแม่หอพระ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เพื่อนำไปก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้ยุติตัดไม้ในพื้นที่ดังกล่าวนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายพิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ ผอ.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) แถลงข่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงทำความเข้าใจก่อนว่า ป่ามี 2 ชนิด คือป่าอนุรักษ์ เป็นป่าที่ต้องเก็บรักษาไว้ห้ามตัด จะอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์โซนซี (C) ส่วนป่าอีกประเภท เป็นป่าที่ อ.อ.ป.ดูแล คือป่าเศรษฐกิจ คือป่าที่ปลูกขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเศรษฐกิจ เมื่อถึงเวลาสามารถนำมาทำประโยชน์แล้วปลูกใหม่ทดแทนได้ ถูกจัดอยู่ในป่าโซนอี (E) สำหรับสวนป่าแม่หอพระที่เป็นปัญหาขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่าตาม พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อัน เนื่องมาจากพระราชดำริ เพียงแต่มีพื้นที่ติดต่อกัน ซึ่งตลอดช่วงกว่า 30 ปี สวนป่าแห่งนี้ยังไม่เคยทำไม้ออกจำหน่าย ไม้จึงมีความสมบูรณ์ ชาวบ้านเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจจึงตกใจและเสียดาย ซึ่งความรู้สึกหวงแหน อยากอนุรักษ์ป่าไม้ของประชาชนถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องแยกแยะระหว่างความรู้สึกกับข้อเท็จจริงให้ได้
...
ผอ.อ.อ.ป.กล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดขึ้น เริ่มมาจากผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีหนังสือถึง อ.อ.ป. ขอซื้อไม้สัก จำนวน 5,000 ท่อน เพื่อใช้ดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จึงให้สวนป่าของ อ.อ.ป.ทางเหนือ สำรวจว่ามีไม้ในขนาดและปริมาณที่ต้องการที่ไหนบ้าง ก็สำรวจทุกสวนที่อยู่ในภาคเหนือ และสวนป่าแม่หอพระ เป็นหนึ่งในสวนป่าที่ต้องสำรวจเพื่อจะขายไม้ตามภารกิจของ อ.อ.ป.ยืนยันทุกอย่างไม่มีการสั่งการมาจากผู้ใหญ่ตามที่ข่าวปรากฏ อย่างไรก็ตามหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หาวิธีดำเนินการที่จะนำสวนป่าแปลงนี้คืนให้เป็นป่าอนุรักษ์ไป อ.อ.ป.ก็ยินดีที่จะคืนที่ 1,200 ไร่ มีต้นสัก 2,000 ต้น ให้เป็นป่าอนุรักษ์ ซึ่งพื้นที่รวมของสวนป่าแม่หอพระ มี 9,000 ไร่ มีต้นสักในสวนป่าประมาณ 100,000 ต้น โดยค่าชดเชยจะให้เป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้พิจารณาว่าตั้งแต่ปี 2521 มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เป็นค่าเสียหาย ทั้งอดีตและอนาคต ขณะนี้ต้องรอความชัดเจนในค่าชดเชยอีกครั้ง เบื้องต้นไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 120 เซนติเมตร อ.อ.ป.จำหน่ายอยู่ที่เมตรละประมาณ 6,000 บาท
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากทางผู้รับเหมาอาคารรัฐสภายังต้องการไม้สัก อ.อ.ป.ก็ยินดีที่จะไปสำรวจในพื้นที่แปลงอื่น ที่อยู่ในความดูแลให้ ซึ่งที่ จ.ลำปาง มีพื้นที่อีกกว่า 100,000 ไร่ ที่ดูแล ซึ่งทุกพื้นที่ที่มีการจำหน่ายไม้ อ.อ.ป.ได้ทำการปลูกทดแทนทุกปี ปีละกว่า 5,000 ไร่ ส่วนพื้นที่ของสวนป่าแม่หอพระ หมดสัญญา ทาง อ.อ.ป.กำลังดำเนินการต่อสัญญากับกรมป่าไม้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา
ด้านนายสุกิจ จันทร์ทอง ผอ.อ.อ.ป.ภาคเหนือตอนบน กล่าวว่าอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ยังอยู่ในขั้นเตรียมพื้นที่ หากเอกชนต้องการ อ.อ.ป.ก็จะสำรวจในพื้นที่อื่นมารองรับ ทั้งนี้ อ.อ.ป.มีแผนการทำไม้สักในพื้นที่สวนป่าทั่วประเทศ 6-7 หมื่น ลบ.ม.หรือประมาณ 3-4 แสนต้นต่อปี ซึ่งเป็นแผนปกติของ อ.อ.ป.อยู่แล้ว และมีการปลูกทดแทนหมุนเวียนกันไปตามหลักวิชาการ โดยทั่วประเทศ อ.อ.ป.มีพื้นที่สวนป่าปลูกไม้สัก 6 แสนกว่าไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ
ขณะเดียวกัน ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ให้คืนสวนป่าในพื้นที่ป่าแม่หอพระ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ หลังเกิดกระแสคัดค้านองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จะเข้าไปตัดไม้สักมาใช้ในการสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ว่า ยืนยันเรื่องนี้รัฐสภาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พวกตนเป็นแค่คนที่ไปจัดซื้ออิฐ ซื้อวัสดุก่อสร้างเท่านั้น และจากเรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหา การเปลี่ยนแบบนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายปัจจัย มีหลายบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าที่ผ่านมาได้เห็นสัญญาก่อนหน้าวันทำสัญญาอาจจะตัดสินใจได้เลยจะเอาอย่างไร แต่ปัญหามีการทำสัญญาว่าจะสร้างรัฐสภาตามแบบแปลนที่วางเอาไว้แล้ว จึงต้องมาหารือกันเพื่อไม่ให้เกิดกรณีเสียค่าโง่ โดยวันที่ 25 ก.ค.เวลา 10.00 น.ตนจะไปพูดคุยผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออก