บ้านเลขที่109-111 รอดตัวไม่เข้าข่าย
“มีชัย” แจกแจงขยายความกฎเหล็ก 17 ข้อ คุณสมบัติต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ชี้ชัดปมทุจริตมีเงื่อนไขหนัก-เบาส่งผลต่อระยะเวลาลงโทษแบน หากร้ายแรงสาหัสตัดสิทธิตลอดชีพ เตรียมเขียนราย ละเอียดใส่ในกฎหมายลูก ระบุสมาชิกบ้านเลขที่ 109-111 ไม่เข้าข่ายต้องห้ามตามกฎเหล็ก เพราะพ้นโทษแล้ว ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์” ไม่รอด หมดสิทธิ์เล่นการเมือง 5 ปี หลังถูก สนช.ถอดถอน เข้าเงื่อนไขอยู่ระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรธ.เผยเจตนาดีไซน์ รธน.ล้างบางคนทุจริตคดโกง พร้อมยกเลิกเอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส.-ส.ว.ทำความผิดเกี่ยวพันปมทุจริตทุกกรณี รื้อระบบประชุมสภาเปิดโอเพ่นตั้งกระทู้ถามกันได้ทั้งปี “บิ๊กตู่” ร่วมแสดงความเสียใจเหตุก่อการร้ายปารีส โชว์วิชั่นลดโลกร้อนเวทีโลก ยกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหลวง นำพาประเทศไทยพัฒนาแบบยั่งยืนกว่า 5 ศตวรรษ “ยิ่งลักษณ์” ปลูกผักแก้กลุ้มคดีรุมเร้า “บุญทรง” ฉะยับ “แก้วสรร” หลับหูหลับตาเชลียร์กองทัพ หลังตกขบวน คสช.ไม่เหลียวแล ต้องออกมาโหนกระแสถล่มโครงการจำนำข้าว
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) วางกฎเหล็ก 17 ข้อ เกี่ยวกับคุณสมบัติต้องห้ามการลงสมัครรับเลือกตั้ง ยังมีการขยายความเพิ่มเติมถึงเงื่อนเวลาในการต้องห้าม ล่าสุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ชี้แจงว่าบุคคลที่กระทำความผิดทุจริตร้ายแรงจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองห้ามลงสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอนไปแล้วนั้น เบื้องต้นจะถูกตัดสิทธิลงสมัครเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
“มีชัย” ชี้ทุจริตร้ายแรงตัดสิทธิตลอดชีพ
...
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นประธาน พิจารณาหมวดรัฐสภา นายมีชัยให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมถึงการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งว่า เราแบ่งการทำความผิดที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้ 2 ระดับ ระดับแรก คือ การทำผิดระหว่างการเลือกตั้ง เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้ใบเหลือง ใบแดง ถ้าเป็นใบเหลืองก็จะทำการ เลือกตั้งใหม่ แต่ถ้าเป็นใบแดง จะต้องมาพิจารณาว่าความผิดรุนแรงหรือไม่ โทษก็จะแบ่งไปตามฐาน ตรงส่วนนี้จะบัญญัติไว้ในกฎหมายลูกว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร ส่วนอีกระดับคือ การทุจริตต่อการเลือกตั้งที่รุนแรง ต้องถูกฟ้องทางอาญาด้วย หาก กกต.ไปฟ้องศาลแล้วศาลมีคำพิพากษาว่าผิดจริง คนนั้นก็จะถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง และตัดสิทธิการลงคะแนนเลือกตั้งด้วย เช่น หาก กกต.พบความผิดฐานซื้อเสียง ก็แจกใบแดงตัดสิทธิผู้สมัคร แล้วฟ้องศาลเป็นคดีอาญา ถ้าศาลชี้ว่าผิด ผู้สมัครคนนั้นก็กลับมาไม่ได้อีก ส่วนกรณีบ้านเลขที่ 109 และ 111 นั้นไม่เข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามตามเนื้อหานี้ เพราะโทษที่พวกเขาได้รับคือถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง ทำให้ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ 5 ปีไปแล้ว และโทษพวกเขาตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
“ปู” หมดสิทธิ์แล้วหลังถูก สนช.ถอดถอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผู้สมัครต้องโทษคดีเล็กน้อย เช่น คดีหมิ่นประมาทหรือคดีลหุโทษ จะถูกตัดสิทธิหรือไม่ นายมีชัยตอบว่า ปกติคดีลหุโทษศาลมักพิพากษาแต่โทษปรับ ส่วนโทษจำคุกให้รอลงอาญา แต่หากศาลพิพากษาคดีอะไรก็ตามให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญา ก็จะเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามนี้ เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายก-รัฐมนตรี ที่ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอน จะเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามตามที่ กรธ.กำหนดหรือไม่ นายมีชัยตอบว่า ลงไม่ได้แล้วเพราะเป็นที่รับรู้กันว่าถูก สนช.ลงมติถอดถอน ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว
หลังพ้นโทษ 5 ปีลงสมัคร ส.ส.ใหม่ได้
ต่อมาเวลา 18.15 น. ที่รัฐสภา นายมีชัยให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังประชุม กรธ.ว่า กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูก สนช.ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรณีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ไม่ได้ถูกตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ในเฉพาะช่วงที่ถูกตัดสิทธิเป็นระยะเวลา 5 ปีเท่านั้น เมื่อพ้นโทษแล้วก็สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้
กรธ.ยกเลิกเอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส.ทุจริต
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. แถลงภายหลังการประชุม กรธ.ว่า หลักการของการประชุมรัฐสภาบทบัญญัติส่วนใหญ่จะเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ที่แตกต่าง 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.หลักการเกี่ยวกับการห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัว ส.ส.และ ส.ว.ในสมัยประชุมจะกระทำไม่ได้ กรธ.มีข้อยกเว้นเพิ่มเติมว่า ถ้า ส.ส.หรือ ส.ว.ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง จะไม่ได้รับการคุ้มครอง 2.คดีทุจริตทั้งหลายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถดำเนินคดีในสมัยประชุมนั้นได้ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ ส.ส.และ ส.ว.สามารถใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองโดยขอความเห็นชอบจากประธานในแต่และสภา ไม่ให้นำตัวไปดำเนินคดีได้
ปรับระบบประชุมสภาตั้งกระทู้ได้ทั้งปี
นายอุดมกล่าวว่า นอกจากนี้ กรธ.ยังได้เปลี่ยน แปลงสมัยประชุมจากเดิมที่กำหนดเป็น 2 สมัยประชุม คือสมัยสามัญทั่วไปและสมัยสามัญนิติบัญญัติ โดยยังคงให้มีการประชุม 2 สมัยเช่นเดิม แต่ไม่เจาะจง ว่าเป็นสมัยสามัญทั่วไปและสมัยสามัญนิติบัญญัติ โดยสามารถดำเนินการกิจการในฝ่ายนิติบัญญัติได้ทุกเรื่อง ทั้งการตั้งกระทู้ถาม การเสนอญัตติ การพิจารณา กฎหมาย ส่วนการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจยังทำได้ปีละ 1 ครั้งตามเดิม จะเป็นช่วงไหนของการประชุมก็ได้
แจงเจตนา กรธ.ล้างบางคนโกง
นายอุดมยังกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูก สนช.ลงมติถอดถอน จะเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามสมัคร ส.ส.หรือไม่ว่า กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ซึ่งถูก สนช.ถอดถอนจากกรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว เป็นระยะเวลา 5 ปี ตรงนี้ถือว่ายังไม่ชัดเจน ว่าเป็นฐานความผิดทุจริตหรือไม่ เจตนารมณ์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ยึดหลักมาจากรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 35 (4) ที่ต้องมีกลไกป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด แต่เบื้องต้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปีตามที่ สนช.ลงมติถอดถอน
“มาร์ค” หนุน 17 ข้อต้องห้ามลง ส.ส.
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กรธ. กำหนด 17 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ส. ว่า ประชาชนคาดหวังการปฏิรูปการเมือง ให้ได้นักการเมืองที่มีคุณภาพ ฉะนั้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเป็นหัวใจสำคัญในการเข้มงวดเพื่อไม่ให้คนไม่ดีเข้าสู่การเมือง เป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน ส่วนการห้ามผู้ที่ถูกถอดถอนลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น ต้องอย่าไปมองที่ตัวบุคคล เราต้องดูว่าในหลักคุณสมบัติที่เหมาะสมคืออะไร ลักษณะต้องห้ามคืออะไร ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ก็เขียนเอาไว้ว่าไม่ให้คนที่เกี่ยวข้องหรือมีการกระทำที่ทุจริตเข้าสู่การเมือง ซึ่งเป็นหลักการที่ดี
ตัดสิทธิ์ต้องยึดหลักการไม่ใช่บุคคล
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนคนที่เคยถูกถอดถอนออกมาระบุว่าเหมือนถูกกลั่นแกล้งนั้น เรื่องนี้เคยกำหนดไว้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตอนนี้ไม่ค่อยแน่ใจกันว่าจะเป็นกรณีของบุคคลที่อาจถูกตัดสิทธิ์โดยผลกฎหมายหรืออย่างไร แต่เหมือน กรธ.ไม่ได้ครอบคลุมถึงตรงนั้น เอาเฉพาะพฤติกรรมหรือการกระทำเป็นลักษณะต้องห้าม เมื่อถามว่า ข้อกำหนดนี้เป็นการสกัดกั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบว่ากระบวนการต่างๆทำกันมายาวนาน ในเรื่องการถอดถอนและการต่อสู้ในคดีก็เปิดโอกาสให้ต่อสู้กันมาตลอด และกระบวนการก็เป็นที่ยอมรับของสังคม
สปท.การเมืองเสนอให้มี ส.ว.เลือกตั้ง
นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าว ว่า ในวันที่ 1 ธ.ค. คณะกรรมาธิการฯ จะสรุปหัวข้อการปฏิรูปด้านการเมืองที่จะยื่นต่อที่ประชุม สปท. ซึ่งจะมีเรื่องการปฏิรูปพรรคการเมืองไม่ให้นายทุนครอบงำพรรค มาตรการแก้ปัญหาทุจริตเลือกตั้งการสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่ดี การเข้าสู่อำนาจของ ส.ส.-ส.ว. และนายกรัฐมนตรี เบื้องต้นเรื่องที่มาของนายกฯจะให้มาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร จะเป็น ส.ส.หรือคนนอกก็ได้ แต่ถ้าเป็นคนนอกต้องมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.มากกว่า 3 ใน 5 ขึ้นไปส่วนที่มา ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า จะให้มี ส.ว. 250 คน แต่ให้มีสัดส่วน ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่าคือ มี ส.ว.เลือกตั้งจังหวัดละ 2 คน ส่วนอีก 94 คน มาจากการสรรหาในกลุ่มอาชีพต่างๆ ขณะที่เรื่องการสร้างความปรองดองนั้น ยังไม่ได้หารือว่าจะต้องมีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ แต่เห็นตรงกันในหลักการว่าจำเป็นต้องมีเรื่องความปรองดอง เพราะเป็นเรื่องสำคัญในระยะเปลี่ยนผ่าน ถ้าไม่มีแผนลดความขัดแย้ง จะทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้าไม่ได้ แม้มีการเลือกตั้งก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก
“ทินพันธุ์” แจงตั้งอดีต สปช.แค่ 32 คน
ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีที่เชิญอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของ สปท.ชุดต่างๆ ว่าเป็นไปตามที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 ออกมาชี้แจง ข่าวที่ระบุว่ามีการแต่งตั้งอดีต สปช.มาเป็นที่ปรึกษากว่า 100 คนนั้น เป็นเรื่องเกินจริง สปท.ไม่มีงบประมาณจ้างคนมากขนาดนั้น ข้อเท็จจริงคือตนลงนามแต่งตั้งอดีต สปช.เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพียง 32 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมากนัก ส่วนใหญ่เป็นอดีต สปช.จังหวัด เพราะคาดหวังประสบการณ์การเป็นคนในพื้นที่มาช่วยประสานช่วงที่จะลงพื้นที่ฟังความเห็นประชาชน และก่อนลงนามแต่งตั้งก็ได้หารือกันแล้วถึงความคุ้มค่า โดยต่อจากนี้แม่น้ำ 4 สายคือ ครม. กรธ. สนช. และ สปท. จะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นพร้อมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างไปเหมือนที่ผ่านมา
เสนอตั้งศาลทุจริตช่วยงาน ป.ป.ช.
พล.อ.นคร สุขประเสริฐ สปท. ในฐานะ กมธ.วิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปท.กล่าวว่า กมธ.ได้จัดทำข้อเสนอเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อเสนอแก่ กรธ.ว่าควรมีกลไกในการขจัดปัญหาทุจริตอะไรใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญบ้าง ข้อเสนอที่น่าสนใจคือ การตั้งศาลทุจริตและคอร์รัปชัน ซึ่ง กมธ.มีแนวความคิดว่าจะตั้งศาลนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานของ ป.ป.ช. และจะวางกรอบการทำงานให้ชัดเจนโดยจะตัดสินคดีทุจริตในส่วนของข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น ส่วนนักการเมืองระดับชาติหรือข้าราชการระดับสูงจะยังให้ ป.ป.ช.ดำเนินการเป็นหลักตามเดิม แนวทางแบบนี้จะช่วยให้คดีทุจริตที่อยู่ในมือ ป.ป.ช.จำนวนมากสะสางรวดเร็วมากขึ้น ไม่ไปกระจุกตัวที่ ป.ป.ช.อย่างเดียว คาดว่าจะสามารถส่งความเห็นแก่ กรธ.ได้ภายในสัปดาห์นี้
“บิ๊กตู่” เสียใจเหตุก่อการร้ายปารีส
สำหรับภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่อยู่ระหว่างเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 11
เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 30 พ.ย. ที่ศูนย์การประชุม Parc des Expositions Paris du Bourget กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส (ตามเวลาท้องถิ่นช้ากว่าประเทศไทย 6 ชั่วโมง) พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม ภายหลังถ่ายรูปหมู่ร่วมกับผู้นำ 140 ประเทศ โดย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์แสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงในกรุงปารีสเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน และให้กำลังใจกับทุกประเทศที่เผชิญเหตุรุนแรง พร้อมแสดงความเป็นหนึ่งเดียวที่จะร่วมต่อต้านการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม สำหรับการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของไทยที่จะมีส่วนร่วมแก้ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลต่อทุกชีวิตทั่วโลก ขอให้ทุกประเทศร่วมกันผลักดันให้การเจรจาความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่บรรลุผลที่สมดุล ครอบคลุม ยืดหยุ่น และปฏิบัติได้จริง โดยคำนึงถึงความแตกต่างของสภาพเศรษฐกิจ และความสามารถในการรับมือของแต่ละประเทศ รวมทั้งต้องเป็นความตกลงที่ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทุกประเทศด้วย