"สามารถ" โพสต์เทียบทางสายไหม-คอคอดกระ พ่วงชง 3 ข้อ หนุนรัฐขุด "คอคอดกระ" โยงเจรจาจีน เปลี่ยนเส้นทางสายไหมจากช่องแคบมะละกา มาใช้ "คอคอดกระ" ไทยแทน
เมื่อวันที่ 19 ต.ค.58 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อเรื่อง "คอคอดกระ" กับ "ทางสายไหม" ใจความว่า ระยะนี้มีการพูดถึงโครงการขุดคอคอดกระเพื่อเป็นทางลัดให้เรือเดินสมุทรแล่นระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทยอีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปนาน จนทำให้หลายคนลืมโครงการสำคัญนี้ไปว่า "คอคอดกระ" อยู่ที่ อ.กระบุรี จ.ระนอง แต่การขุดคลองลัดดังกล่าวนั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะขุดหรือไม่ และจะขุดที่ไหน ดังนั้น คอคอดกระในที่นี้จึงหมายถึงคลองลัดเชื่อมสองฝั่งทะเลไทย โครงการขุดคลองลัดนี้มีการพูดกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2220 จวบจนบัดนี้เป็นเวลาถึง 338 ปี ก็ยังมีการพูดถึงกันไม่จบ
นายสามารถ ระบุต่อว่า ใช่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้นที่มองเห็นประโยชน์จากโครงการนี้ ประเทศอื่นก็มองทะลุเช่นกัน เช่น ตัวอย่างแรก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2489 ไทยถูกบังคับให้ลงนามในข้อตกลงเพื่อเลิกสถานะสงครามกับอังกฤษว่า จะไม่ขุดคลองลัดแห่งนี้ถ้าไม่ได้รับความเห็นชอบจากอังกฤษ เนื่องจากอังกฤษไม่ต้องการให้เศรษฐกิจของสิงคโปร์ซึ่งในเวลานั้นอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษต้องกระทบกระเทือน เพราะคอคอดกระจะเป็นคลองลัดการเดินเรือซึ่งจะทำให้เรือเดินทะเลจำนวนหนึ่ง เปลี่ยนการใช้เส้นทางจากช่องแคบมะละกาทางตอนใต้ของสิงคโปร์มาใช้คอคอดกระแทน เนื่องจากสามารถร่นระยะทางได้มากกว่า 1,000 กิโลเมตร แต่หลังจากลงนามในข้อตกลงได้ 8 ปี เราก็เป็นอิสระ เพราะมีการยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวในปี พ.ศ. 2497
ส่วนอีกตัวอย่างคือ มีผู้ที่เห็นประโยชน์จากโครงการนี้เป็น กลุ่มบริษัทญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งได้ยื่นเสนอขอรับสัมปทานขุดคอคอดกระจากรัฐบาลไทยในปี พ.ศ. 2533 โดยจะลงทุนเองทั้งหมดเพื่อแลกกับผลตอบแทนจากการบริหารคลองลัดนี้ ซึ่งหากเขาไม่เห็นผลประโยชน์อันงามที่คุ้มกับการลงทุนก็คงไม่ยื่นข้อเสนอนี้แน่นอน
...
นายสามารถ ระบุต่ออีกว่า อย่างไรก็ตาม ทุกโครงการย่อมก่อให้เกิดผล กระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งด้านลบของโครงการนี้ก็มี โดยข้อที่วิตกกังวลกันมากคือ กลัวว่าการขุดคอคอดกระจะเป็นการแบ่งแยกประเทศไทยออกเป็นสองส่วน ซึ่งอาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนได้ ข้อวิตกนี้จำเป็นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบโดยอาจเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีการขุดคลองลัดคือ ประเทศปานามา (ขุดคลองปานามา) และประเทศอียิปต์ (ขุดคลองสุเอซ) ซึ่งก็ไม่มีการแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด อีกทั้ง จึงควรเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ประกอบด้วยเกาะหลายเกาะว่ามีการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ และเป็นที่น่าสังเกตว่า "คอคอดกระ" ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม (Silk Road) อนึ่ง เส้นทางสายไหมซึ่งกำหนดโดยประเทศจีนไว้ตั้งแต่สมัยโบราณนั้น ประกอบด้วยเส้นทางทั้งทางบกและทางทะเล โดยทางทะเลมีการกำหนดไว้ในราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty พ.ศ. 337- พ.ศ. 763) มีเส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา
นายสามารถ โพสต์ระบุต่อว่า ดังนั้น หากรัฐบาลไทยสนใจที่จะขุดคอคอดกระ ผมมีข้อเสนอดังนี้ 1. ศึกษาความเป็นได้ของการขุดคลองลัดอย่างจริงจังโดยครอบคลุมทุกมิติ หากเห็นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย และไม่กระทบต่อความมั่นคงก็ขอให้พิจารณาดำเนินการในข้อ 2 และ ข้อ 3 ต่อไป 2. เจรจากับจีนขอให้เปลี่ยนแนวเส้นทางสายไหมจากช่องแคบมะละกามาเป็นเส้นทางผ่านคลองลัดของไทย ทั้งนี้ เส้นทางสายไหมเดิมจะเริ่มจากท่าเรือ Jiaozhou และท่าเรือ Guangzhou ของจีน ผ่านช่องแคบมะละกา เข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย และอ่าวเปอร์เซีย 3. ขอให้จีนรวมทั้งประเทศอื่นที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ร่วมลงทุนกับไทย ซึ่งจะทำให้เรือเดินสมุทรของประเทศเหล่านี้ช่วยกันใช้คอคอดกระแทนช่องแคบมะละกา ซึ่งหากจีนและประเทศอื่นที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ไม่ไห้ความร่วมมือ ก็เห็นทีโครงการนี้จะเกิดยาก.