เป็นคดีที่ยาวนานจนเกือบจะลืมกันไปแล้ว แต่ที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็มีคำพิพากษาติดคุกกันระนาว โดยเฉพาะ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานบอร์ดบริหารธนาคารกรุงไทย และนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการถูกจำคุกคนละ 18 ปี

นอกนั้นยังมีเจ้าหน้าที่ธนาคารและกลุ่มนิติบุคคล และผู้บริหารบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเงินที่ได้รับสินเชื่ออีกส่วนหนึ่ง

สรุปง่ายๆ ก็คือ การที่ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ในขณะนั้นได้ปล่อยเงินกู้ให้กลุ่มกฤษดามหานครเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท แต่จำนวนเงินดังกล่าวได้นำไปดำเนินการผิดวัตถุประสงค์ตามคำขอแต่กลับนำไปโยกย้ายถ่ายเทแบ่งปันกัน

ความผิดอยู่ตรงนี้แหละ...

ทั้งนี้ยังมีจำเลยที่ 1 คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในสมัยนั้นรวมอยู่ด้วย เพียงแต่ยังหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ศาลจึง สั่งให้พักคดีไว้ก่อนและจะมีการออกหมายจับต่อไป

คดีดังกล่าวเป็นความผิดทุจริตฐานใช้ธนาคารกรุงไทยที่เป็นองค์กรของรัฐอนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัทในเครือของบริษัทกฤษดามหานคร อ้างว่านำเงินไปรีไฟแนนซ์หนี้และซื้อที่ดินทำโครงการอื่น

แต่กลับนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวของกลุ่มผู้กระทำผิด

ก่อนหน้าที่มีการยื่นเสนอขอสินเชื่อนั้น มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าไม่เหมาะสมเพราะบริษัทในกลุ่มกฤษดามหานครมีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร

เนื่องจาก ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวงเคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มในอันดับที่ 5 คือ ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้

คำถามก็คือ ทำไมธนาคารกรุงไทยจึงอนุมัติให้สินเชื่อจนทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินของแบงก์ ซึ่งเป็นของรัฐซึ่งก็คือของประชาชน

เพราะถ้าดูจากตัวเลขต่างๆแล้ว แบงก์พาณิชย์ของเอกชนย่อมไม่มีทางปล่อยสินเชื่อในวงเงินจำนวนมากอย่างนี้แน่

...

มันเสี่ยงเกินไป ทำให้เกิดความเสียหายได้

แต่เป็นเพราะธนาคารกรุงไทยเป็นของรัฐที่ผู้มีอำนาจการเมืองสั่งการด้วยวาจา จึงทำให้ผู้บริหารธนาคารต้องจำใจยอมปฏิบัติตามด้วยการยอมให้สินเชื่อและรู้ด้วยว่าเป็นความสุ่มเสี่ยงที่มีผลทางกฎหมายอย่างแน่นอน

สุดท้ายก็มาถึงจุดจบคือ “ติดคุก” กันระนาว

เรื่องนี้ดูเหมือนตอนแรกก็มีการแก้ต่างกันว่าเป็นการจับให้เป็นประเด็นกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่เมื่อมีคำพิพากษาออกมาว่ามีการกระทำความผิดจริงก็เพราะมีข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมาแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องการเมืองแล้ว

แต่เป็นเพราะ “นักการเมือง” ทำให้มันเป็นอย่างนี้

นี่จึงเป็นบทเรียนอีกบทหนึ่งที่นักการเมืองได้ใช้อำนาจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพรรคพวก เพื่อนพ้องที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน

ผู้รับผิดชอบโดยตรงคือผู้บริหาร เจ้าหน้าที่จึงจำใจต้องปฏิบัติ ตามคำสั่งหรือยอมรับคำสั่งเพราะอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน

หรือข้าราชการที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งนักการเมืองก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน กรณีที่เกิดการทุจริตคอร์รัปชันนักการเมืองรอด แต่ข้าราชการต้องติดคุก

เว้นแต่กรณีที่มีหลักฐานผูกมัดโยงไปถึงนักการเมืองก็จะมีความผิด ร่วมกัน แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่จะจับตัวใหญ่ได้

คดีนี้จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนว่านักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศ จึงเป็นต้นตอสำคัญที่นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน จนทำให้ประเทศเกิดปัญหามาตลอด

ไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตยหรือไม่ประชาธิปไตยหรอกครับ...

“สายล่อฟ้า”