ที่ประชุม สนช.ขานชื่อลงมติโดยเปิดเผย เห็นชอบ รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว วาระ 1 ด้วยมติ 204 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง หลังประวิตร-วิษณุ ขึ้นชี้แจง สนช.ปมขอแก้ รธน.7ประเด็น 

วันที่ 18 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับชั่วคราว โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผล ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว เพราะมีเสียงเรียกร้องให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ และคณะรัฐมนตรีและ คสช.จึงขอแก้ไขประเด็นอื่นเข้ามารวม 7 ประเด็นใหญ่ โดยแก้ไขมาตรา 8 เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ สมาชิก สนช. พร้อมแก้ไขมาตราเกี่ยวกับการขยายเวลาการทำงานให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจากเดิม 60 วันเป็น 90 วัน ขณะเดียวกัน ขอแก้ไขประเด็นการเปิดทางให้ทำประชามติ กำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศภายหลัง สปช.ลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ขอแก้ไขประเด็นการสิ้นสุดลงของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หากประชามติ ไม่ผ่านความเห็นชอบ หรือ สปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

จากนั้น สมาชิก สนช.ได้ซักถามคณะรัฐมนตรี และ คสช. เกี่ยวกับประเด็นการจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนในทุกครัวเรือน ประเด็นการอยู่ต่อของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายหลัง สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ การแก้ไขเพื่อให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศแทน สปช.จะมีวาระอยู่ถึงเมื่อไร เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ อีกทั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้เอกสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์ เหมือน ส.ส. เหมือนมีสถานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งการแก้ไขให้บุคคลที่เคยถูกตัดสิทธิเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้ลดมาตรการที่เด็ดขาดจากเดิม

...

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้า คสช. ชี้แจงถึงเหตุผลการยกเลิก สปช.เพราะมีผู้วิจารณ์ถึงการอยู่ต่อของ สปช.ภายหลังลงมติผ่านหรือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ลงมติร่างรัฐธรรมนูญได้เต็มที่ เมื่อร่างผ่านแล้วให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ต่อเพื่อดูการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในภายหลัง แต่ถ้าสปช.ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็ให้คณะกรรมาธิการสิ้นสุดลงตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 21 คน มาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด

ส่วนการปลดล็อกเรื่องคุณสมบัติของสมาชิก สนช.ให้ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเข้ามาเป็น สนช. เพราะทุกคนต้องมีสิทธิเท่ากัน และไม่ลงโทษย้อนหลัง แต่อำนาจการแต่งตั้งอยู่ที่ คสช. พร้อมย้ำว่า ต้องการความเป็นธรรมและปรองดองให้เกิดขึ้น ส่วนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จะไม่เหมือน ส.ส. จะมาทำหน้าที่ปฏิรูปอย่างเดียว เพราะไม่มีการโปรดเกล้าฯ จึงไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

นายวิษณุ ชี้แจงถึงการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนหากแจกจ่ายไปที่ตัวบุคคล โดยพบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวน 49 ล้านคน ทำให้ต้องแจกจ่ายร่างฯถึง 49 ล้านคน อาจทำให้มีปัญหาเรื่องระยะเวลาการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังไม่มั่นใจจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันที่ 6 กันยายน ดังนั้น หาก สปช.ลงมติรับร่างฯ อาจทำให้พิมพ์ร่างฯ ไม่ทัน ขณะเดียวกัน หากแจกจ่ายร่างฯ ถึง 49 ล้านคน อาจมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่ใช้จำนวนมาก และหากพิมพ์ถึง 49 ล้านฉบับ เมื่อปี 2550 ก็มีการแจกจ่ายไปให้ทุกคน ก็พบว่า มีการชั่งกิโลขาย ทำให้มาคิดเรื่องครัวเรือนน่าจะมีประโยชน์กว่า

ร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขต้องแจกจ่ายให้ได้ 80% ของ 49 ล้านครัวเรือน โดยกำหนดคร่าวๆ 6-7 กันยายน สปช.จะลงมติร่างรัฐธรรมนูญ โดยหากผ่าน กกต. จะลงมือพิมพ์ร่างฯทันที โดยดูการตอบรับทางไปรษณีย์ตอบรับได้ร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อครบ 80% แล้ว กกต.จะประกาศวันลงประชามติ คาดว่า เป็นวันที่ 10 หรือ 17 มกราคม ปีหน้า หากประชามติไม่ผ่านความเห็นชอบ โดยประชามติครั้งแรกเกิดในเดือนมกราคม ปี 2559 แต่ถ้าไม่ผ่านประชามติ ทำให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ถูกยุบต้องตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดย คสช.มาจากผู้ทรงคุณวุฒิมายกร่างฯ ไม่เกิน 6 เดือน เมื่อเสร็จแล้ว ให้ทำประชามติครั้งที่สอง ในปลายปี 2559 จะทำประชามติจนกว่าประชาชนจะยอมรับ ถ้าประชามติครั้งที่สองไม่ได้รับความเห็นชอบ ก็ให้ยุติแค่นั้นก่อน โดยรัฐบาลมีอำนาจตามมาตรา 46 สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้อีก พร้อมยืนยัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจาก สปช.20 คน จะอยู่ในตำแหน่งกรรมาธิการ ต่อไป หาก สปช.สิ้นสุดลง

"ส่วนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จะอยู่ในตำแหน่งถึงเมื่อใดต้องดูในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะกรรมาธิการจะยกร่างขึ้น ดังนั้นสภาขับเคลื่อนฯ จะอยู่จนกว่ามีการเลือกตั้งมีการเปิดประชุมรัฐสภา มีรัฐบาลใหม่ พร้อมระบุการไม่ไปออกเสียงประชามติไม่มีโทษ แต่จะต้องจูงใจให้ออกไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติให้ได้" นายวิษณุ กล่าว...

โดยที่ประชุม สนช.ขานชื่อลงมติโดยเปิดเผยเห็นชอบรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชั่วคราวด้วยมติ 204 เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ สนช. และมีสมาชิกงดออกเสียง 3 เสียง.