ธีรยุทธแซวท.ทหารฉุนเฉียว สปช.ไขรหัสล้มรธน.-อยู่ยาว ‘อนุดิษฐ์’ฟองอาญาวิชา-พวก
“ประวิตร” ปัดไม่มีใบสั่งคว่ำร่าง รธน. “วิษณุ” แจงลงประชามติวันเดียว ยืดหยุ่นได้ไม่เกิน 17 ม.ค.59 งดกาบัตรล่วงหน้า-นอกราชอาณาจักร ตัดปัญหาเสียเวลา ไม่เปลืองงบฯ ด้าน สปช.ถอดรหัสแก้ รธน. ชั่วคราว ไฟเขียวล้มร่างแรกต่ออายุรัฐบาล “วันชัย” อ้างสกัดแรงกระเพื่อม นายกฯอยู่ต่อ 2 ปี สางปัญหาคั่งค้าง กมธ.ยกร่างฯตีกรอบปรับปมร้อนจบก่อน 23 ก.ค. ไม่เชื่อ สปช.โหวตทิ้งกลางทาง ปชป.ชี้โยนหินหยั่งกระแสจ้องอยู่ยาว รธน.ผ่านหรือแท้งเข้าล็อกยื้อเวลา พท.ขุดอดีตทรราชเตือนสติ คสช. “ธีรยุทธ” แซว “ลุงตู่” ท.ทหารฉุนเฉียว “ประยุทธ์” ดับข่าวจ่อดึง “สมคิด” ร่วมวง ครม. ฉุนสื่อถามทุกวันสืบทอดอำนาจ ว้ากทวงอะไรกันนักหนา อยากให้เส้นเลือดแตกตายหรือไง “อนุดิษฐ์” นำร่องฟ้องอาญา “วิชา กับพวก” กลั่นแกล้งชี้มูลคดีเยียวยาม็อบ
กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ใน 7 ประเด็น ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นการปูทางไปสู่การต่ออายุรัฐบาลออกไปอีก 2 ปีนั้น
“ประวิตร” ย้ำเดินตามโรดแม็ป
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 มิ.ย. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการออกคำสั่งเรื่องการเคลื่อนย้ายอาวุธตามอำนาจของ คสช.เกี่ยวข้องกับความห่วงใยเรื่องรัฐธรรมนูญหรือกรณีรัฐบาลจะอยู่ต่อ 2 ปีหรือไม่ ว่า การเคลื่อนย้ายอาวุธต้องผ่านหัวหน้า คสช. ถือเป็นระเบียบปฏิบัติไม่มีปัญหาอะไร ไม่เกี่ยวกับทางการเมือง ส่วนใหญ่รัฐบาลชี้แจงหมดแล้ว รัฐบาลมีความจริงใจทุกอย่างตรงไปตรงมา การอยู่ต่อของรัฐบาลก็ไม่รู้จะอยู่อย่างไรเคยบอกไปแล้ว ทุกอย่างต้องเดินไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เมื่อถามว่ารัฐบาลจะอยู่ต่อกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ผ่านใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ได้อยู่เพราะรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แต่เป็นไปตามโรดแม็ปที่เขียนไว้ ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านจะทำอย่างไร ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญที่หัวหน้าคสช.ชี้แจงไป ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ว่าเหตุการณ์วุ่นวายจะเกิดขึ้นในรัฐสภาเหมือนสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ผมจำไม่ได้ สื่อจำเก่งเหลือเกิน ต้องเล่าให้ฟังหน่อย ความจริงไม่มีอะไร ในสภาเป็นแค่ลงคะแนนเสียงจะไปวุ่นวายอะไรมากมาย ผมไม่เท้าความไปยาวขนาดนั้น ถ้าสื่อจำได้ก็เล่าให้ประชาชนฟังด้วย”
...
ปัดพัลวันใบสั่ง สปช.ล้ม รธน.
เมื่อถามว่า คสช.จะเอาบทเรียนในประวัติศาสตร์มาแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเรื่องอำนาจหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี นายกฯได้พูดชัดเจน ตนก็พูดชัดเจนไม่มีอะไรเป็นประเด็น เมื่อถามย้ำว่า คสช.ไม่สามารถสั่ง สปช.และ สนช.ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้ชัดเจนว่าจะมีมาตราไหนถึงจะผ่านหรือไม่ผ่าน ทุกอย่างต้องจบ ยืนยันไม่มีใบสั่งจากรัฐบาล หรือ คสช. เพราะ สปช. และ สนช.เป็นคนที่มีเกียรติยศชื่อเสียง ได้รับการคัดเลือกจากคนที่มีคุณวุฒิ มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์เหมาะสม รัฐบาลและ คสช.ทำด้วยความโปร่งใสทุกเรื่อง ไม่เคยปิดบัง ไม่เคยอมพะนำ
“วิษณุ” แจงไม่มีลงประชามติล่วงหน้า
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ได้ซักซ้อมทำความเข้าใจเพื่อทำข้อตกลงกับ กกต.ที่ต้องไปออกกฎกติกาการออกเสียงประชามติ เสนอ สนช.ให้ความเห็นชอบ งบประมาณอยู่ที่ 2,667 ล้านบาท ส่วนที่ไม่ให้ออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักร เพราะเสียเวลา สิ้นเปลืองงบประมาณ ต้องใช้งบถึง 400 ล้านบาท จะยุ่งยากกับการแจกตัวร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือน รวมถึงการออกเสียงลงประชามติล่วงหน้าก่อน 7 วันก็ไม่ต้อง ให้ลงประชามติวันเดียวเลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ส่วนวันลงประชามติไม่ขัดข้องถ้าเป็นวันที่ 10 ม.ค.59 แต่ไม่ได้ต้องล็อกตายตัว บวกลบได้นิดหน่อยถึงวันที่ 17 ม.ค.59 ส่วนเวลาเปิด-ปิดหีบเลือกตั้งจะเป็นเวลา 08.00-16.00 น.
แยกง่ายๆ ทำ 3 บัตร 3 สี 3 หีบ
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนเกณฑ์การนับคะแนนที่กำหนดให้ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จะมาเท่าไรก็แล้วแต่ มาเท่าไรนับเท่านั้น ไม่ต้องครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเหมือนประชามติที่ผ่านมา สำหรับบัตรเลือกตั้งมี 3 บัตร 3 สี 3 หีบ เพื่อง่ายต่อการแยกบัตรเสียและการนับคะแนน และคำถามทั้ง 3 บัตร ควรมีแค่ถามว่ารับหรือไม่รับ ใช่หรือไม่ใช่ และเห็นชอบหรือไม่เห็น เท่านั้น และยึดเกณฑ์เดียวกันคือ เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ ส่วน กกต.จังหวัดที่จะหมดวาระลงกว่า 60 จังหวัดก็ไม่ต้องไปตั้งใหม่ เพราะถ้าตั้งจะอยู่ถึง 4 ปี อาจไม่ได้ทำอะไร แต่ต้องมาจ่ายเงินเดือนตลอด จึงให้ กกต.ไปคิดดูว่าจะทำอย่างไร เพราะต้องเข้ามาช่วยทำประชามติด้วย
ขู่ทำโพลก่อน 7 วันมีความผิด
เมื่อถามว่า การรณรงค์ออกเสียงประชามติฝ่ายการเมืองจะออกมารณรงค์ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องหารือกันอีกครั้ง เรื่องนี้ทุกคนรู้ปัญหาอยู่แล้ว อย่างการจัดชุมนุมหรืออะไรต้องหยุดไว้ก่อน ส่วนที่นักวิชาการเป็นห่วงความบริสุทธิ์และเป็นธรรมของการออกเสียงประชามติ ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2557 ของการใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ทำให้เป็นธรรมได้ ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร อาจจะผ่อนคลายซัก 1-2 อย่างได้ เมื่อถามว่าหากมีการรณรงค์ให้ไม่ออกมาใช้สิทธิมีความผิดหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถือว่ามีความผิดรวมถึงฉีกบัตร ขัดขวางการลงประชามติ รวมถึงการทำโพลก่อนการทำประชามติ 7 วัน ถือว่ามีความผิดทั้งสิ้น
สมช.กัดติดกลุ่มการเมืองเคลื่อนไหว
นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงความเคลื่อนไหวกลุ่มการเมืองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ระบุแล้วว่า การเคลื่อนไหวไม่เกี่ยวกันกับการต่ออายุรัฐบาล นายกฯยืนยันเสมอว่าเป็นไปตามโรดแม็ป การผลักดันต่ออายุนั้นเป็นเรื่องของคนอื่น ขอให้ดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากสายข่าวการเคลื่อนไหวแบบผิดปกติยังไม่มี แต่ในแง่ของการเลือกตั้ง ในแง่ของประชาธิปไตย ตนเชื่อว่าต้องมีการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว อาจรวมตัวกันว่าจะทำอย่างไร แสดงความคิดเห็นอย่างไร
“วันชัย” ถอดรหัสให้ตีตกร่างแรก
ด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้ยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ภายหลังการลงมติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญว่า ผู้มีอำนาจคงเห็นว่า สปช.ยังทำงานไม่ดีพอ จึงควรปรับองค์ประกอบและวิธีการทำงานใหม่ ช่วยให้ สปช.อิสระมากขึ้น ไม่คำนึงว่าต้องโหวตให้รัฐธรรมนูญผ่านแล้วจะได้อยู่ต่อ สปช.จะคิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ถ้าตามรัฐธรรมนูญเดิมมีแนวโน้มสูงว่า สปช.ต้องโหวตผ่านรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ถ้าแก้ไขใหม่ก็ไม่แน่ว่า รัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ และมีแนวโน้มสูงว่ารัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำ เพราะ สปช.จะยึดเหตุผลการไม่แก้รัฐธรรมนูญตามที่กลุ่มของตัวเองขอแก้ไขมาประกอบการพิจารณาเป็นสำคัญ และพิจารณาว่าถ้าโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญนำไปสู่การทำประชามติ จะมีแรงกระเพื่อมเคลื่อนไหว เพราะจะมีการโต้แย้งจากเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ เป็นการกวนน้ำให้ขุ่นในสถานการณ์ที่ยังไม่นิ่งพอ
พูดชัดคว่ำร่าง รธน.ต่ออายุรัฐบาล
นายวันชัยกล่าวอีกว่า ถ้าประชามติผ่านอายุรัฐบาลต้องนับถอยหลัง ในขณะที่การปฏิรูปยังค้างอยู่ แต่ถ้า สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้น ไม่มีแรงกระเพื่อม ไม่เสียเงิน แม้ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่รัฐบาลยังทำงานต่อ แก้ปัญหาที่ค้างคาต่อไปเกือบ 2 ปี ตามความต้องการของประชาชน เมื่อคำนึงถึงประเทศเป็นสำคัญแล้ว การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นประโยชน์มากกว่าปล่อยผ่านไป
ไม่ต่อวีซ่าโละทิ้งสภาดราม่า
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิก สปช.กล่าวว่า สปช.ไม่เสียขวัญที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ทำให้ สปช.เหลือเวลาทำงานเพียง 3 เดือน เหตุที่ต้องเขย่าขวด สปช. เนื่องจาก สปช.ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 60 ปี สุขภาพมีปัญหา บางคนเป็นข้าราชการประจำมีภารกิจมาก ไม่มีเวลามาประชุม แม้ สปช.ส่วนใหญ่มีคุณภาพแต่ผลงานยังมีข้อบกพร่อง อภิปรายในสภามีดราม่าเยอะเหมือนสภาการเมือง พูดถึงผลประโยชน์ในพื้นที่ตัวเอง บางคนพูดแต่เรื่องธุรกิจตนเอง บางคนไม่ได้พูดอะไรเลย แต่ชอบย้ายที่นั่งออกทีวี ไม่ต่างจาก ส.ส. มี สปช.บางคนคอยรายงานให้ผู้ใหญ่ทราบตลอดเวลาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นใน สปช. คนเหล่านี้คอยกระซิบว่าใครมาทำงานสม่ำเสมอ หรือเซ็นชื่ออย่างเดียวแล้วออกไป ยอมรับว่าหลังแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว มีความเสี่ยงที่ สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ยิ่งถ้า สปช.นึกถึงผลประโยชน์ส่วนตัวก็มีแนวโน้มร่อแร่ ส่วนตัวขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตราเดียวคงโหวตให้ผ่าน แต่ไม่แน่ใจกลุ่มอื่นๆที่เสนอแก้เป็นร้อยมาตราว่า หาก กมธ.ยกร่างฯไม่แก้ไขให้ตามที่ต้องการจะโหวตอย่างไร
กมธ.ปรับแก้ปมร้อนจบก่อน 23 ก.ค.
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯเป็นประธานการประชุม มีวาระเพื่อพิจารณาประเด็นสำคัญที่ควรหาข้อยุติก่อน ในเรื่องสภาผู้แทนราษฎร คำว่ากลุ่มการเมือง และโอเพ่นลิสต์ ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณาประเด็นสำคัญไปแล้ว ได้แก่ ภาค 1 หมวด 2 ว่าด้วยประชาชน ประเด็นคำว่า พลเมือง สภาตรวจสอบภาคพลเมือง สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง การจัดแบ่งเรื่องสิทธิเสรีภาพ ภาค 2 หมวด 1 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี หมวด 2 ว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติและองค์กรยุทธศาสตร์ชาติ โดยประเด็นการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ ที่ประชุมคงหลักการไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนรายละเอียดจะนำไปบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า การพิจารณาประเด็นสำคัญที่ควรหาข้อยุติก่อนเบื้องต้นกำหนดให้เสร็จในวันที่ 23 มิ.ย.จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาเป็นรายมาตรา
ไม่เชื่อ สปช.เดินเกมคว่ำร่างฯ
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯกล่าวว่า การพิจารณาหลักการสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างการเมืองยังไม่ได้ข้อยุติ คณะ กมธ.ยกร่างฯจะประชุมอีกครั้งวันที่ 15 มิ.ย. ส่วนประเด็นที่สำคัญ เช่น มาตรา 181 และมาตรา 182 ที่ส่วนใหญ่เสนอให้ตัดทิ้งจะพิจารณาวันที่ 17 มิ.ย.
ด้านนางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกรณีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้ยุบ สปช.หลังเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่เชื่อว่าจะส่งผลต่อทัศนคติของ สปช. ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เพราะสปช.ส่วนใหญ่อาสาเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ชาติ คงไม่นำชื่อเสียงมายึดติดกับประเด็นดังกล่าว ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่า สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เชื่อว่าเป็นความจริง เพราะ สปช.ที่ออกมาให้ความเห็นเป็นทัศนะส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของ สปช. อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปรียบเสมือนลูกของ สปช. คณะ กมธ.ยกร่างฯบัญญัติสาระสำคัญเกี่ยวกับการปฏิรูปไว้ชัดเจน จึงไม่เชื่อว่า สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
“สมชัย” ดักคออย่าตั้งคำถามเพื่อตัวเอง
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง บรรยายพิเศษหัวข้อ “ความสำคัญของการเลือกตั้งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย” ให้ผู้รับการศึกษาหลักสูตร พตส.รุ่นที่ 6 สำนักงาน กกต. โดยกล่าวถึงการทำประชามติว่า กรณีที่กำหนดให้ สปช.และ สนช.ตั้งคำถามการทำประชามติได้สภาฯละ 1 คำถาม สังคมต้องช่วยกันส่งสารไปว่าไม่ใช่ตั้งคำถามตามใจตัวเองหรือเพื่อประโยชน์คนกลุ่มใด ควรเป็นคำถามย่อยในเนื้อหารัฐธรรมนูญที่ยังถกเถียงกันอยู่ เช่น เรื่องที่มานายกฯ ที่มา ส.ว. เพื่อคณะ กมธ.ยกร่างฯจะได้นำไปปรับแก้เนื้อหาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ
อาสาตีทะเบียนองค์กรร่วมรณรงค์
นายสมชัยกล่าวว่า ทั้งนี้จะเสนอต่อที่ประชุม กกต.เปิดให้องค์กรหรือพรรคการเมืองที่ประสงค์จะรณรงค์การออกเสียงประชามติมาลงทะเบียนใน 5-7 วัน ประกาศตัวให้ชัดเจนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ หากบิดเบือนรูปแบบการรณรงค์จากที่เสนอมาต้องรับผิดชอบการกระทำเอง พร้อมเสนอโครงการจัดกิจกรรมรณรงค์ เช่น เว็บไซต์ แจกใบปลิว เป็นต้น และ กกต.อาจพิจารณาจัดสรรเวลาให้ทั้งสองฝ่ายดีเบตอย่างเท่าเทียม เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจมากขึ้น และจำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่นๆ ได้ ขณะที่งบประมาณการลงประชามติอาจจะเกิน 3,000 ล้านบาท เฉพาะการพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญและจัดส่งให้ประชาชนก็อาจใช้ 1,000 ล้านบาทแล้ว แต่ กกต.กำชับหน่วยงานปฏิบัติให้ใช้งบฯอย่างประหยัดและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด
ปชป.ชี้โยนหินหยั่งเชิงเปิดช่องอยู่ยาว
นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี คสช. และ ครม.เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ใน 7 ประเด็นเปิดช่องให้พ่วงคำถามอื่นในการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นการโยนหินถามทางเพื่อหยั่งกระแสสังคมให้ถกเถียงและเปิดช่องไว้ก่อน ส่วนจะพ่วงคำถามอื่นเพื่อให้รัฐบาลอยู่บริหารต่ออีก 2 ปีหรือไม่นั้น รัฐบาลจะต้องดูกระแสสังคม ณ เวลานั้นว่าคะแนนนิยมของรัฐบาลในช่วงที่จะทำประชามติจะดีหรือตกลง หากดีก็อาจพ่วงคำถามอื่น หากไม่ดีก็ไม่ทำ เพราะมีทางเลือกอื่นอีก