สมชัย แนะ สนช.-สปช.ตั้งคำถามประชามติ ควรหยิบข้อขัดแย้งในร่าง รธน.เป็นตัวตั้ง เล็ง เสนอ กกต.รับจดทะเบียนองค์กรรณรงค์ร่าง รธน.ป้องกันเคลื่อนไหวการเมือง แย้ม งบฯ อาจทะลักเกิน 3 พันล้าน
วันที่ 12 มิ.ย. 58 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง บรรยายพิเศษหัวข้อ "ความสำคัญของการเลือกตั้งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย" ให้กับผู้รับการศึกษาหลักสูตร พตส.รุ่นที่ 6 ของสำนักงาน กกต. โดยได้กล่าวถึงการทำประชามติ ว่า กรณีที่กำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งคำถามการทำประชามติได้สภาฯ ละ 1 คำถาม ดังนั้น สังคมต้องช่วยกันส่งสารไปยังทั้ง 2 สภา ว่า การตั้งคำถามไม่ใช่ตั้งคำถามเพื่อตามใจตัวเอง หรือประโยชน์ของคนกลุ่มใด แต่ควรเป็นคำถามย่อยในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ที่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ เช่น เรื่องที่มานายกฯ ที่มา ส.ว. เพื่อที่หลังการทำประชามติแล้วคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะได้นำไปปรับแก้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ตนจะเสนอต่อที่ประชุม กกต.เปิดให้องค์กร หรือ พรรคการเมือง ที่ประสงค์จะรณรงค์การออกเสียงประชามติรวมตัวกันมาจดทะเบียน จะเปิดให้ลงทะเบียน 5-7 วัน ซึ่งต้องประกาศตัวให้ชัดเจน ว่า จะอยู่ผ่านเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับร่างฯ รัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอโครงการการจัดกิจกรรมรณรงค์ เช่น จัดทำเว็บไซต์ แจกใบปลิว เป็นต้น และ กกต.อาจพิจารณาจัดสรรเวลาให้ทั้งสองฝ่าย ได้ดีเบตกันอย่างเท่าเทียม เชื่อว่า การรณรงค์เช่นนี้ ทำให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น และจำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่นๆ ได้ แต่หากองค์กรที่มาจดทะเบียน บิดเบือนรูปแบบการรณรงค์ จากที่เสนอโครงการมาก็ต้องรับผิดชอบ การกระทำเอาเอง และ คสช.ไม่จำเป็นต้องผ่อนคลายมาตรการอะไร ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจกติกาเชื่อว่า จะไม่มีปัญหา ขณะที่งบประมาณ ในการลงประชามติ อาจจะเกิน 3,000 ล้านบาท เฉพาะการพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ และจัดส่งให้ประชาชนก็อาจใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาทแล้ว แต่ กกต.ได้กำชับหน่วยงานปฏิบัติ ให้ใช้งบประมาณอย่างประหยัดและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด
...