สนช.ผ่าน ก.ม.การยางฯ 174-1 งดออกเสียง 5 บี้ แก้ราคายางฯ ให้เป็นเอกภาพ ด้าน นพ.เจตน์ แนะทำบาร์เตอร์เทรดกับจีน ขณะ “อำนวย” เร่งทำผลิตภัณฑ์ราคาสูงเพื่อเพิ่มมูลค่า

วันที่ 11 ธ.ค. เมื่อเวลา 10.12 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระการประชุมเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดย สนช.อภิปรายอย่างกว้างขวาง อาทิ นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล สนช. กล่าวว่า พื้นที่ภาคใต้ปลูกยางพารามากที่สุด รองลงมา คือ ภาคตะวันออก ภาคอีสาน ทำให้มีพื้นที่ปลูกหลายล้านไร่ แต่ไม่มีมาตรการดูแลคุมพื้นที่ ราคายางพาราที่พูดกัน ขณะนี้ 3 กิโลกรัม 100 บาท ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน อยากให้รัฐบาลแทรกแซงหรือประกันราคา 80 บาท

ทั้งนี้ ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ไทยมีรายได้จากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจจริงๆ อยากให้ดูว่าจะทำอย่างไรให้ยางเหมือนราคาข้าว ที่ไทยเคยครองอันดับหนึ่งของโลก และทำอย่างไรให้ประเทศที่ผลิตยางพารามาพูดคุยกันเพื่อความเป็นเอกภาพ

ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. กล่าวว่า ฝากข้อสังเกตว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ต้องมีข้อมูลเพียงพอว่า จะขยายพื้นที่ปลูกยางเพิ่มหรือไม่ หากไม่มีข้อมูลเพียงพอ ก็ไม่สามารถส่งเสริมเกษตรกรได้ ควรจัดทำโซนนิ่งด้วย เพราะหากไม่ดำเนินการจะส่งผลเลวร้ายต่อเกษตรกรเหมือนที่เป็นอยู่ และต้องมีข้อมูลเพียงพอต่อการส่งเสริมเกษตรกรจะให้ปลูกยางพาราใหม่หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ไทยตกลงกับจีนในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทาง กทม.-หนองคาย น่าจะเป็นโอกาสดีในการตกลงทำบาร์เตอร์เทรด หรือแลกเปลี่ยนสินค้า น่าจะตกลงกันได้ อย่างไรก็ตาม เราต้องกระตุ้นดีมานด์ โดยใช้สัดส่วนยางพาราทำถนน ซึ่งรัฐมนตรีต้องดำเนินการเร่งด่วน ทั้งนี้ นายพรเพชร ฝากให้คณะกรรมาธิการฯ โดยเฉพาะตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวละเอียด และต้องตรวจดูเรื่องเทคนิคทางกฎหมายด้วย เพราะต้องยกเลิกกฎหมายเก่ากว่า 8 ฉบับ เกรงว่าอาจทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นได้

...

ด้าน นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า ข้อสำคัญเชิงกฎหมายเชิงเทคนิค การรวมกฎหมายทั้ง 8 ฉบับไว้ ต้องไม่ให้เกิดช่องโหว่ เพราะภายหลังจะแก้ไขยาก ส่วนประเด็นที่สมาชิกตั้งข้อสังเกต เรื่องกฎหมาย ควบรวมองค์กรภาครัฐที่อยู่ในอุตสาหกรรมยาง ขณะนี้เป็นรัฐวิสาหกิจนั้น ไม่ได้ควบรวมกิจการภาคเอกชน เพราะออกกฎหมายใดๆ บังคับเอกชนให้มาร่วมไม่ได้ ซึ่งองค์กรที่จะตั้งขึ้นเป็นองค์กรกลางจัดการยางพาราครบทั้งระบบ ให้ประเทศเป็นศูนย์กลางผลิตยางพารา

อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้นำกองทุนไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และขยับตัวการผลิตในชั้นเกษตรกร เป็นอุตสาหกรรมการค้าและผลิตภัณฑ์ราคาสูง เช่น ยาง ล้อเครื่องบิน ความมั่นคงยั่งยืนเกิดขึ้นแน่นอน และไปได้ด้วยการวิจัยพัฒนา ทั้งนี้ ภายหลัง สนช. อภิปรายเสร็จ ที่ประชุมมีมติวาระ 1 เห็นชอบด้วยคะแนน 174 ต่อ 1 คะแนน และงดออกเสียง 5 คะแนน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณา 25 คน