"กัมปนาท" ลั่น ศปป.ลุยเดินหน้าสร้างปรองดอง เผย 9 จังหวัดลงนาม "เอ็มโอยู" สลายขัดแย้งแล้ว วอนทุกฝ่ายจริงใจแก้ปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืน
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 10 มิ.ย. 57 พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ ในฐานะผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) กล่าวว่า การประชุมวันนี้ เพื่อติดตามการทำงานของ ศปป. ซึ่งทุกภาคส่วนให้ความร่วมมืออย่างดีในการขับเคลื่อนการปรองดอง สมานฉันท์ และการปฏิรูป
"ผมนำเจตนารมณ์ของหัวหน้า คสช. มาชี้แจงให้ทุกภาคส่วนได้เข้าใจ ซึ่งในช่วง 2 เดือน เป็นระยะเร่งด่วนในการสร้างบรรยากาศสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูล เพื่อนำไปสู่ช่วงระยะที่ 2 ตามที่หัวหน้า คสช.ได้วางโรดแม็ปไว้ให้ ศปป. เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดเวทีให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายร่วมกันสร้างความรักความสามัคคี สร้างสภาวะแวดล้อมเกื้อกูลต่อกัน ในการปรองดองสมานฉันท์" พล.ท.กัมปนาท กล่าว
พล.ท.กัมปนาท กล่าวยืนยันว่า คสช.ไม่ใช่ผู้ขัดแย้ง เราจะไม่เอาตัวลงไปขัดแย้ง และไม่มีหน้าที่ไปชี้ผิดชี้ถูกใดๆ ตนเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ และทำรายงานเสนอต่อสภาปฏิรูป ซึ่งกลยุทธ์การสร้างความปรองดอง ไม่ว่าจะภาคเหนือหรืออีสาน มีความแตกต่างกันในบางพื้นที่ อาจใช้ดนตรี ใช้กีฬา หรือดำเนินการผ่านบ้าน วัด โรงเรียน เพราะวัฒนธรรมขนมธรรมเนียบต่างกัน แต่ถือว่าสิ่งที่ได้ทำก้าวหน้าในระดับหนึ่ง จากคนที่ไม่เคยมาฟังดนตรี ก็มานั่งคุยนั่งฟังดนตรีร่วมกัน ถือว่าประสบความสำเร็จเพื่อนำไปสู่ขั้นที่ 2
พล.ท.กัมปนาท กล่าวว่า การดำเนินการทั้งหมด หัวหน้า คสช.ได้ติดตามความคืบหน้าทุกวัน เรื่องไหนที่ไม่เหมาะสม ก็จะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เพื่อให้เกิดการปรองดองให้ได้ ทั้งนี้ แกนนำทุกกลุ่มให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งตนจะลงพื้นที่ในภาคอีสาน เพื่อติดผลการดำเนินการในสัปดาห์หน้า
...
พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า วันนี้ได้เชิญผู้แทนจาก 7 กระทรวง 13 หน่วยงาน มาหารือ เพื่อบูรณาการปรับแผนงานโครงการกิจกรรมของแต่ละกระทรวง ให้ สอดคล้องแนวความคิดของหัวหน้า คสช. โดยกระทรวงศึกษาธิการเน้นกิจกรรมสอดแทรก การปรองดองสมานฉันท์ กระทรวงสาธารณสุขเน้นการเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงยุติธรรม ให้ยึดมั่นในหลักนิติธรรม ส่วนสำนักงานพระพุทธศาสนา เน้นให้รณรงค์ให้นับถือศีล 5
ทั้งนี้ หลังการตั้งศูนย์ปฏิบัติการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ศปก.รมน.จังหวัด) ในทุกจังหวัดตลอด10 วันที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมเชิงปริมาณ 56 จังหวัด ถือว่าอยู่ในระดับที่มีคุณภาพ มีระดับผู้นำทางความคิดมาร่วมหารือ และได้ข้อตกลงร่วมกันเพื่อปรองดอง สมานฉันท์ โดยลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) มีสื่อมวลชนเป็นพยาน จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว ลพบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา และอุดรธานี.