มติที่ประชุมอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ เคาะ 3 มาตรการช่วยชาวนา พยุงราคาไม่ต่ำกว่า 8,000 บาทต่อตัน ใช้วงเงิน 1.8 พันล้าน เตรียมเสนอ นบข. พิจารณาสัปดาห์หน้า

วันที่ 20 ก.พ. 2568 ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โรงสี สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และกลุ่มชาวนา

นายพิชัย ระบุภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 3 มาตรการเพื่อพยุงราคาข้าวไม่ให้ต่ำกว่า 8,000 บาทต่อตัน ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปรังตันละ 1,500 บาท ปริมาณ 1.5 ล้านตัน กรณีเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 กรณีฝากสถาบันเกษตรกร จะได้รับตันละ 1,000 บาท โดยสถาบันได้ค่าฝากเก็บ 500 ระยะเวลาฝากเก็บ 1-5 เดือน มาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีในการรับซื้อข้าวที่ร้อยละ 6 ปริมาณ 2 ล้านตัน ระยะเวลา 2-6 เดือน และมาตรการเปิดจุดรับซื้อข้าวในราคานำตลาดตันละ 300 บาท ปริมาณ 3 แสนตัน ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท โดยโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี จะใช้วงเงิน 1,893 ล้าน เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ หรือ นบข. สัปดาห์หน้า และเสนอต่อ ครม. ต่อไป

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่จะช่วยดึงซัพพลายข้าวออกจากตลาด โดยการเร่งส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศให้ได้มากขึ้น

...

ด้านนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาจะช่วยให้เกษตรกรขายข้าวได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของเกษตรกร ส่วนข้อเสนอที่เกษตรกรขอให้ชดเชยเรื่องต้นทุน เรื่องการไม่เผาฟางข้าว เป็นเรื่องคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวด้านการผลิตจะต้องพิจารณา

ขณะที่ นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า มีความพอใจกับมาตรการดังกล่าวที่ออกมาระดับหนึ่ง โดยชาวนาอยากขายข้าวในราคาไม่ต่ำกว่า 8,000 บาทต่อตัน เพราะเป็นราคาที่รับได้ ซึ่งต้นทุนราคาปลูกข้าวขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5,500 - 6,000 บาทต่อตัน

แต่ขณะเดียวกัน ด้านกลุ่มชาวนาที่เดินทางมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มารอหน้าห้องประชุม ได้ระบุด้วยว่า ยังไม่พอใจกับมาตรการนี้ เพราะไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง