ปิดฉากไปแล้วการเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด และสมาชิกสภา อบจ.76 จังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร และฝ่ายออกข้อบัญญัติของ อบจ. ที่มีความสำคัญไม่แพ้การเลือกตั้ง สส.เพื่อเข้าไปทำหน้าที่เลือกตัวแทนฝ่ายบริหาร และอีกส่วนทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ

นับเป็นอีกก้าวย่างของกระบวนการ พัฒนาประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น โดยครั้งนี้ประชาชนตื่นตัวออกไปใช้สิทธิในระดับที่น่าพอใจ ถึงแม้ว่าในภาพรวมที่ กกต.สรุปผลเลือกตั้งนายก อบจ.มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 58.45 และ ส.อบจ.ร้อยละ 56.06 ลดลงจากการเลือกตั้งปี 2563 และต่ำกว่าเป้าหมาย ที่ กกต.ได้ตั้งไว้คือ ร้อยละ 65

แต่หากฟังการวิเคราะห์การเลือกตั้ง อบจ.ของนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ระบุว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะมีการเลือกตั้งนายก อบจ.ไปก่อน 29 จังหวัด เมื่อเดือน ธ.ค.2567 รวมทั้งเลือกตั้งก่อนหน้านั้นกรณีนายก อบจ.ลาออกก่อนครบวาระ ส่งผลต่อการ ออกไปใช้สิทธิเลือก ส.อบจ.ทั่วประเทศ และเลือกนายก อบจ.ในครั้งนี้

รวมทั้งที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดการเลือกตั้งในวันเสาร์ ที่ปกติจะเป็นวันทำงาน แทนที่จะจัดกันในวันอาทิตย์ เช่นที่ผ่านๆมา แม้จะมีเหตุผลจาก กกต.ในประเด็นเงื่อนเวลาตามข้อกฎหมายบังคับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องความไม่สะดวกในการเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้ผู้มาใช้สิทธิต่ำกว่าที่คาดการณ์ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ตามข้อมูลที่ กกต.แถลง ในเรื่องจำนวนบัตรเสียที่ใกล้เคียงกับการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งก่อน ก็พอเข้าใจได้ตามเหตุผลที่ว่าบัตรเสียส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องการทำผิดกฎหมาย แต่เป็นเพราะประชาชนที่ไปใช้สิทธิบางส่วนอาจสับสนเรื่องหมายเลข ในบัตรเลือกตั้ง เบอร์ผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ.ที่แต่ละแห่งมีจำนวนไม่เท่ากัน

...

และยังมีอีกข้อมูลที่น่าสนใจคือสถิติผู้ใช้สิทธิไม่เลือกผู้สมัครรายใด หรือโหวตโน ทั้งในส่วนการเลือกนายก อบจ. ร้อยละ 7.08 และ ส.อบจ.ร้อยละ 6.81 และ หากแยกพิจารณาแต่ละจังหวัด หลายพื้นที่มีคะแนนโหวตโนสูงเกินกว่าร้อยละ 10 ถือว่า สูงกว่าทุกครั้ง บางพื้นที่มีคะแนนโหวตโนสูงชนิดสามารถพลิกผันผลเลือกตั้งได้เลย

กรณีนี้อาจสะท้อนได้หลายประเด็น ที่แน่นอนก็คือไม่มีผู้สมัครที่ถูกใจ หรือประชาชนอาจเบื่อหน่ายการแข่งขันหาเสียง กระแสการเมืองสีเสื้อและอิทธิพลบ้านใหญ่ แต่ในมุมที่ดีก็คือยังออกไปเลือกตั้ง รักษาสิทธิ ยึดมั่นประชาธิปไตย ตรงนี้จึงเป็นอีกข้อมูลที่นักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ ควรนำไปขบคิดวิเคราะห์กันต่อไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม