ก็เป็นไปตามคาด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารกว่า 100 ฉบับ ทันทีที่ได้รับตำแหน่งเป็นทางการ คำสั่งแรกยกเลิกคำสั่งอดีตประธานาธิบดีไบเดน 78 ฉบับ ตามมาด้วย คำสั่งให้สหรัฐฯถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) คำสั่งให้สหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานแห่งชาติ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันใช้แทนพลังงานสะอาด ประกาศภาวะฉุกเฉินชายแดนสหรัฐฯกับเม็กซิโก และ พิจารณาเก็บภาษีนำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ แม้จะ ไม่มีคำสั่งขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 60% ในวันแรก แต่ผู้นำสหรัฐฯก็ยังถือว่า จีนเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งและอันตรายที่สุด

ทรัมป์ยังประกาศ จะขยายดินแดนอเมริกา ยึด “คลองปานามา” กลับมาเป็นของสหรัฐฯ ฐานเก็บค่าผ่านคลองเรือสหรัฐฯแพงเกินไป จะเปลี่ยนชื่อ “อ่าวเม็กซิโก” เป็น “อ่าวอเมริกา” ฯลฯ

ประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของทรัมป์ เพราะได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯสูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากเวียดนาม ล่าสุด นายมาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ที่เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ก็ได้ส่งเสียงกดดันประเทศไทยแล้ว ไม่ให้ส่งตัว “ชาวอุยกูร์ 48 คน” ที่ถูกไทยควบคุมตัวไว้ตั้งแต่ปี 2014 กลับไปยังประเทศจีน รูบิโอ กล่าวว่า คนเหล่านี้ถ้าถูกส่งตัวกลับจีน ก็จะถูกส่งไปอยู่ในค่าย กลายเป็นคนไร้ตัวตน ถูกบังคับใช้แรงงาน

รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนนี้ ไม่ชอบจีนอย่างมาก ต่อต้านการใช้แรงงานชาวอุยกูร์ของจีน และถูกจีนขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศ

สินค้าไทยกลุ่มที่เสี่ยงจะถูกสหรัฐฯขึ้นภาษี มีอยู่ 29 กลุ่มสินค้า ที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับไทย อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โทรศัพท์มือถือ ทรานซิสเตอร์ โซลาร์เซลล์ หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่อง ปรับอากาศ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเพชรพลอยรูปพรรณ ฯลฯ ก่อนหน้านี้สหรัฐฯได้ขึ้นภาษี “โซลาร์เซลล์” จาก 4 ชาติอาเซียน คือ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา ที่ผลิตจากบริษัทจีน โซลาร์เซลล์ Trina Solar ของจีนที่ผลิตในไทย ถูกตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูงถึง 77.85% ครั้งนี้ ประธานสภาหอการค้าไทย และ ประธานสภาอุตสาหกรรม จึงขอให้รัฐบาลเร่งตั้งทีมเจรจากับสหรัฐฯขึ้นมาโดยด่วน

...

คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ แนะนำว่า รัฐบาลไทยไม่ควรไปเจรจาเดี่ยว อำนาจต่อรองอาจไม่พอ ควรไปเจรจาร่วมในนามอาเซียน จะมีอำนาจต่อรองมากกว่า

คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2565 ไทยเกินดุลสหรัฐฯปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท รองจากเวียดนามในกลุ่มอาเซียน ทำให้ไทยเป็นเป้าหมาย แต่ข้อเท็จจริงที่ไทยเกินดุล ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทสหรัฐฯที่มาตั้งในไทย การตั้งทีมเจรจากับสหรัฐฯ หอการค้าไทยจึงเห็นว่า ควรต้องมี “ตัวแทนจากภาคเอกชน” เข้าร่วมด้วย เพราะอยู่ในสนามการค้า และมีข้อมูลเชิงลึกที่สะท้อนปัญหาที่แท้จริงได้ นอกจากนี้เอกชนไทยส่วนหนึ่งก็ไปลงทุนในสหรัฐฯด้วย การเจรจารัฐบาลต้องมีข้อมูลสองด้าน

ผมเห็นด้วยกับ คุณสนั่น ครับ ทีมเจรจากับสหรัฐฯ ต้องมีภาคเอกชนผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมทีมด้วย เพราะมีข้อมูลครบถ้วน ถ้าส่งผ่านให้รัฐบาลไปเจรจาฝ่ายเดียว อาจพลาดท่าเสียทีได้

คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม เสนอให้รัฐบาลตั้ง War Room และเตรียม “ล็อบบี้ยีสต์” ที่เข้มแข็งไว้ด้วย เพื่อวางแผนรับมือนโยบายการค้าของสหรัฐฯ แบบ win win ลดผลกระทบการส่งออก และผลกระทบทางอ้อม ความจริงรัฐบาลควรจะรอบคอบ ตั้ง “ทีมเจรจากับสหรัฐฯ” ไว้ล่วงหน้า เพราะรู้อยู่แล้วว่าไทยเป็นเป้าหมาย การใช้ “ล็อบบี้ยีสต์” ก็สำคัญ ตัวอย่าง บิ๊กเทคสหรัฐฯ ก็มีให้เห็นแล้ว อีลอน มัสก์, มาร์ค ซัคเกอร์ เบิร์ก, เจฟฟ์ เบซอส, ซุนดาร์ พิชัย มหาเศรษฐีแบรนด์เนม เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ต่างก็ยอมศิโรราบบริจาคเงินและไปร่วมพิธีสาบานตนของทรัมป์ การเจรจากับสหรัฐฯครั้งนี้คงไม่ง่าย การเตรียมตัวให้พร้อมทุกฝ่ายทุกด้าน จึงสำคัญอย่างยิ่ง.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม