เป็นประเด็นร้อนแรง ทอล์กออฟเดอะทาวน์ “Entertainment Complex” แม้ยังเป็นแค่ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นำโดยแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ แต่ก็ มาพร้อมกับการอนุมัติหลักการแก้ปัญหาพนันออนไลน์ใต้ดินให้ขึ้นมาบนดินทำให้ถูกกฎหมาย

หมายความว่ารัฐบาลนี้รับจบ ทุกสิ่งอย่างที่เป็นการเดิมพัน พนันขันต่อ อะไรที่เป็นของเถื่อน ลักลอบเล่นกัน รัฐบาลนี้แก้ปัญหาด้วยการรับเป็นเจ้ามือเอง นี่คือหลักการแก้ปัญหาแบบเกลือจิ้มเกลือ ตามเนื้อหาเจตนารมณ์ที่เขียนเอาไว้ในร่าง กฎหมาย ยังไม่รู้ว่าถูกหรือผิดทาง มันก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติการจริงจะเป็นเช่นไร

เจ้ามือเถื่อน แก๊งใต้ดิน อิทธิพล มาเฟีย ที่นับวันยิ่งจะขยายกิจการ แผ่ซ่านอิทธิพลในทางน่ากลัวชั่วร้าย จนกลายเป็นภัยคุกคามชาวบ้านและประชาชนคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้านสะเทือนแน่ ถ้ารัฐบาลมุ่งปราบปราม ตัดวงจรธุรกิจเทาๆ ดำๆล้างบางขบวนการเหล่านี้อย่างจริงจัง ไม่ยอมให้เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ หุ้นส่วน

เป้าหมายสำคัญหาเงินรายได้ก้อนโตเข้าสู่ประเทศ ด้วยการดึงเงินจากนอกระบบจากการพนันผิดกฎหมายที่อยู่ใต้ดิน และการพนันออนไลน์ที่มีฐานอยู่ต่างประเทศ ทุกทิศทุกทางให้เข้าสู่ส่วนกลางเป็นรายได้ของรัฐ ดูดีมีอนาคตมาก แต่ข้อสังเกต ข้อสงสัย ความหวั่นเกรงเริ่มประเด ประดังเข้ามา เป็นคำถามอื้ออึงในสังคม

รัฐบาลนี้มีปัญหาเรื่องความจริงใจ เปิดเผย หรือหนักไปทางเก็บงำ แทงกั๊ก นำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องความโปร่งใส และการยอมรับการตรวจสอบ เพราะนโยบายที่ออกมาบอกเพียงจุดประสงค์และเป้าหมาย แต่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ครอบคลุม เน้นชี้แจงแค่เรื่องกระบวนการวิธีการที่จะตั้งสถานบันเทิงครบวงจร

บทสรุปเป้าหมายของความเสี่ยง ทำเรื่องที่แหลมคมเพื่ออะไรกันแน่ รัฐบาลจะนำเม็ดเงินไปต่อยอดให้ประเทศชาติ หรือคืนกำไรให้สังคมอย่างไร ควรที่จะระบุเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ได้เลยหรือไม่ เช่น แบ่งให้การลงทุนพื้นฐานโครงการเมกะโปรเจกต์ 20% คืนภาษี สวัสดิการให้ประชาชน 10% แจกกลุ่มเปราะบาง 5% เป็นต้น

...

ดังนั้น ควรทำทุกอย่างให้ชัดเจนโปร่งใส ไม่ต้องรอให้เกิดคำถาม ข้อสงสัยต่างๆนานา เอื้อประโยชน์ใคร เปิดช่องนายทุนที่ไหนมากอบโกยหรือไม่ ต้องยอมรับว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยเห็นด้วยที่รัฐบาลจะดำเนินการเรื่องนี้ เพราะมองเห็นโอกาสสร้างประโยชน์ แต่ก็ต้องการ หลักประกันว่าจะเดินหน้ากันไปถูกทางด้วยความจริงใจ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม