การค้ามนุษย์คืออาชญากรรมข้ามชาติ ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นถึงขั้นสหประชาชาติมีอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ จำเป็นต้องมีวิธีการทั้งในประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง มีมาตรการป้องกันปราบปรามลงโทษผู้ค้ามนุษย์และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ปัญหาค้ามนุษย์มีแนวโน้มขยาย ไปทุกประเทศ รวมถึงไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรง ทางอ้อม เป็นประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง โดยเฉพาะกรณีดาราจีนถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกผ่านไทยไปทำงานเมืองเมียวดี มีการระบุว่าแค่อาคาร 1 แห่งจาก 35 แห่ง ที่เป็นศูนย์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีเหยื่อถึง 6,000 คน

รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าว มีมติ ครม. 15 ต.ค.67 ออกมาตรการป้องกันและปราบปราม การค้ามนุษย์ในสถานประกอบการ แถม นายกฯย้ำใช้มาตรการที่มีอยู่อย่างจริงจัง มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ มีโทษรุนแรงหนักสุดถึงขั้นประหารชีวิต ผู้กระทำผิด

กฎหมายนี้ถูกแก้ไขเพิ่มเขี้ยวเล็บ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อขจัดขบวนการนี้ โดยนายกฯเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปกค.) มีรัฐมนตรีระดับว่าการ 8 กระทรวง เป็นรองประธาน ปกค. แต่ยังมีปัญหาระดับปฏิบัติการ เช่น ปัญหาการแยกกรณีค้ามนุษย์ ออกจากการลักลอบเข้าเมืองหรือนักท่องเที่ยว

วาระแห่งชาติขจัดปัญหาการค้า มนุษย์ให้สิ้นซาก รัฐบาลที่ผ่านมาเคยประกาศเป็นนโยบายและให้การสนับสนุนหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อทำสงครามกับขบวนการค้ามนุษย์ ผ่านมาตรการป้องกัน จับกุมดำเนินคดี คุ้มครองช่วยเหลือเหยื่อ จับมือเครือข่ายภาคีเข้ามาเสริมทัพช่วย แต่พอกลไกรัฐหลวม ขบวนการนี้ก็ยิ่งฮึกเหิม

สถานการณ์ค้ามนุษย์ตามข้อมูลของนายรังสิมันต์ โรม ประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทยฯ สภาผู้แทนราษฎร ระบุชัดผู้ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์หลายประเทศมักถูกอ้างให้มาทำงานในประเทศไทย เราจึงถูกเปรียบเปรยเป็นนายหน้าให้ขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ก่อนข้ามแนวตะเข็บชายแดนไปทำงานที่เมืองเมียวดี

ธุรกิจสีเทาเบ่งบานตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา มีข้าราชการทุจริต กลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้าไปเกี่ยวข้อง ทางออกที่ดีรัฐบาลต้องหยิบยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ กวาดล้างเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพล และรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการค้ามนุษย์รูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยแจ้งเบาะแสอีกทาง.

...

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม