คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีการประชุมวันศุกร์ที่แล้ว ข้อน่าสังเกตคือ มีการแก้ไขรายละเอียดหลายประการ และ เปลี่ยนนโยบายที่ดินในเขตนวัตกรรมนำไปทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ แม้ เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC จะตั้งมานานถึง 7 ปีแล้ว แต่โครงการสำคัญก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมืองสนามบิน เป็นต้น เลยทำให้เศรษฐกิจไทยง่อยเปลี้ยอยู่ทุกวันนี้
การประชุมของ บอร์ดอีอีซี วันศุกร์ที่ 10 มกราคม ไม่มีเรื่องความก้าวหน้าของโครงการแต่ เห็นชอบเปลี่ยนนโยบายที่ดินเมืองนวัตกรรม EECi ไปสู่เชิงพาณิชย์ ยังไม่รู้ว่าหน้าตาของอีอีซีในอนาคตจะเป็นอย่างไร บริษัทต่างชาติที่ได้รับบีโอไอและซื้อที่ดินไปแล้วจะทำอย่างไร
คุณจุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซี เปิดเผยผลการประชุมว่า 1.รับทราบการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนาม ฉบับแก้ไข เพื่อแจ้งต่อคู่สัญญาต่อไป คาดว่าจะลงมือก่อสร้างได้ภายในเดือนเมษายน 2568 หลังจากที่ล่าช้ามาเกือบ 7 ปี ก็ไม่รู้ว่าเดือนเมษายนจะได้ลงมือก่อสร้างจริงหรือเปล่า 2.เห็นชอบให้เพิ่มพื้นที่เขตเศรษฐกิจการบินตะวันออก (EECa) อีก 714 ไร่ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุในความควบคุมดูแลของกองทัพเรือ (ไม่รู้มีนักธุรกิจคนไหนได้เช่าไป) เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 (รันเวย์) เพื่อรับสิทธิพิเศษซึ่งดูคลุมเครือมาก
ประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่มีการแก้ไขในการประชุมบอร์ดครั้งนี้ ซึ่งน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง
คุณจุฬา เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ “เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi)” โดยให้ “ขยายเจตนารมณ์ของโครงการ” ที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินตรงนี้เฉพาะ “เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototype development)” ให้แก้ไขเพิ่มเติมเป็น “ระดับการผลิตเชิงพาณิชย์หรือการใช้งานต่อเนื่อง (Product on shelf) ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย” เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น การปรับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินครั้งนี้ปรับเฉพาะที่ดิน 975 ไร่เท่านั้น (ไม่รู้ที่ดินของใคร?) จากเนื้อที่ทั้งหมด 3,454 ไร่
...
การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ครั้งนี้ ทำให้ EECi เปลี่ยนสภาพจาก “เมืองวิจัยและพัฒนา” หรือ “เมือง R&D” กลายเป็น “พื้นที่โรงงาน” และ “เมืองธุรกิจ” ซึ่งมีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากเมืองวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยสิ้นเชิง การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ครั้งนี้ยังทำให้ราคาที่ดิน 975 ไร่ (ของใครไม่รู้?) มีราคาเพิ่มขึ้นทันทีเท่ากับราคาที่ดินในนิคมเกรดเอ อนาคตของ EEC จากนี้ไปคงไม่สวยหรูอย่างที่แผนแม่บทวางไว้เมื่อ 7 ปีก่อน
คุณจุฬา เปิดเผยอีกว่า บอร์ดอีอีซี ยังเห็นชอบให้จัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เนื้อที่ 1,172 ไร่ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ด้วย (ไม่รู้เป็นที่ดินของใครอีกเหมือนกัน?) เพื่อรองรับการขยายตัวและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (เหมือนพื้นที่ 975 ไร่ ใน EECi) การบิน โลจิสติกส์ ดิจิทัล และการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา คาดว่าจะมีการลงทุนในพื้นที่ 156,000 ล้านบาท ทั้งที่ที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ก็ยังเหลืออีกบานเบอะ แต่กลับไปเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะบางพื้นที่เพิ่มเติม?
เห็นข่าวที่ออกมาแล้วก็อดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลเพื่อไทยกำลังทำอะไรอยู่หรือ?
สัปดาห์ที่แล้ว นายกฯมาเลเซีย กับ นายกฯสิงคโปร์ เพิ่งร่วมลงนามจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 ชาติ” Jahor-Singapore Special Economic Zone พื้นที่กว่า 3,500 ตาราง กม. ใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ 4 เท่า ใหญ่กว่าเสิ่นเจิ้นของจีน 2 เท่า มีโครงสร้างพื้นฐานครบทั้ง สนามบิน ท่าเรือ รถไฟเชื่อมยะโฮร์-สิงคโปร์ รวมทั้ง ดาต้าเซ็นเตอร์ของไมโครซอฟท์ ถ้านักลงทุนจะมาลงทุนแถวนี้ เขาจะเลือกลงทุนที่ไหน ทุกคนคงรู้คำตอบดี.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม