ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คน ซึ่งมีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ เลือกศาสตราจารย์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯเป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่
แทนนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งครบวาระต้องพ้นตำแหน่งตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา
และลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 6 ต่อ 2 เลือก “นายชาตรี อรรจนานันท์” อดีตอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่
แทนนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่หมดอายุใช้งานพร้อมกัน
“แม่ลูกจันทร์” ถือเป็นข่าวน่ายินดีที่จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหน้าใหม่ๆ เสียบแทนตุลาการหน้าเก่าๆที่ครองตำแหน่งจนรากงอกถึง 9 ปี
ที่น่ายินดีเป็นพิเศษ คือการที่ ศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ ซึ่งเป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านพรรคการเมืองและระบบเลือกตั้งได้รับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เพราะ ดร.สิริพรรณ เป็นนักวิชาการคลื่นลูกใหม่ ที่ยึดหลักประชาธิปไตยเสรีนิยมอย่างแน่วแน่มั่นคง
แถมเคยวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมา
แต่...แต่...“ดร.สิริพรรณ” จะได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากของวุฒิสภาหรือไม่??
“แม่ลูกจันทร์” ยังไม่แน่ใจ
เพราะแม้ “ดร.สิริพรรณ” จะได้รับเสียงเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาฯก็จริง
แต่ถ้าไม่ผ่านด่าน สว.สายสีน้ำเงิน ซึ่งกุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา ดร.สิริพรรณก็หมดหวังนั่งเก้าอี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เพราะวุฒิสภามีอำนาจโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรายชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
ใครจะได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องผ่านไฟเขียวจากวุฒิสภา
...
“แม่ลูกจันทร์” ย้ำว่า ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จะได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
อยู่ที่การตัดสินใจของ สว.สายสีน้ำเงินที่มีถึง 150 คน จาก สว.ทั้งสภาฯ 200 คน
ข้อสำคัญ ปีนี้จะเป็นปีที่กรรมการองค์กรอิสระดำรงตำแหน่งครบวาระต้องเก็บฉากกลับบ้านกันระนาว
เริ่มจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะว่างลงพร้อมกันอีก 3 คน
คือ “พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” ประธาน ป.ป.ช. ซึ่งผูกขาดเก้าอี้มา 9 ปี, นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ ซึ่งครบวาระดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. พร้อมกัน
แถมปลายปีนี้คณะกรรมการ กกต. ต้องพ้นวาระดำรงตำแหน่งอีก 5 คน
ได้แก่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต., นายสันทัด ศิริอนันต์ ไพบูลย์, นายปกรณ์ มหรรณพ, นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และ นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ ซึ่งดำรงตำแหน่งมาครบ 7 ปี
ยังไม่รวมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) อีก 6 คน
เท่ากับปีนี้จะมีการรีสต๊อกผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระถึง 16 คน
ใครจะได้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ 16 คน จึงอยู่ในอำนาจชี้ขาดของ สว.สายสีน้ำเงิน
ใครคุม สว.สายสีน้ำเงิน ก็สบายแฮล่ะโยม.
"แม่ลูกจันทร์"
คลิกอ่านคอลัมน์ “สำนักข่าวหัวเขียว” เพิ่มเติม