แนวโน้มการนำ เทคโนโลยี AI มาทำงานแทนการใช้แรงงานคนค่อนข้างจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป จากแรงเหวี่ยงของ ธรรมชาติ โรคระบาด ภัยสงคราม ทำให้ภาคแรงงานต้องปรับตัวมากขึ้น จากแรงงานที่ใช้แรงอย่างเดียวหรือมีทักษะแบบเดิมๆ ต้องเข้าถึงและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆมากขึ้น เพื่อควบคุมและใช้งานเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
คลื่นลูกใหม่ของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจาก แรงสะท้อนกลับของเทคโนโลยี ทำให้บริษัท อุตสาหกรรม ธุรกิจขนาดใหญ่ ลดขนาดและจำนวนคนลง กระทบไปถึง ทิศทางนโยบายการศึกษา ที่เน้นสายอาชีพให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น รวมทั้งสายวิชาการเองก็ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมในวิธีการปฏิบัติ เช่น การใช้สมองคำนวณ จะเปลี่ยนเป็นการใช้เครื่องจักรกลคำนวณ ที่จะได้ผลลัพธ์ที่สำเร็จรูปรวดเร็วกว่าและแม่นยำกว่า
ภาคแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ที่ไม่มีประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่มีโอกาสที่จะเรียนรู้หรือใช้ทักษะใหม่ๆก็จะย้ายฐานจาก ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจไปสู่ภาคเกษตรกรมากขึ้น การวางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เท่ากับเป็นการกระทบโครงสร้างการบริหารประเทศทั้งระบบ แม้แต่ค่านิยมเดิมๆในการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศของภาคแรงงานเพราะได้ค่าตอบแทนมากกว่า ก็จะประสบกับอุปสรรคมากขึ้นในขณะที่ค่าตอบแทนจะลดลงเรื่อยๆ เท่ากับสภาพแวดล้อมบีบให้รัฐบาลต้องปรับโครงสร้างการบริหารประเทศใหม่
รัฐบาลเริ่ม วางกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ตามข้อสรุปของ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดกรอบวงเงินงบประมาณปี 2569 อยู่ที่ 3,780,600 ล้านบาท ทำให้ต้องมีการกู้เงินเพื่อมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ 860,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 ต่อ GDP ประมาณการรายได้สุทธิในปี 2569 อยู่ที่ 2,920,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 1.2 ประมาณการตัวเลข GDP อยู่ที่ 20,082,400 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจ ในปี 2569 ขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.3-3.3 หรือเฉลี่ยร้อยละ 2.8 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศถือว่า ต่ำกว่าเกณฑ์เมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ตราบใดที่ยังคิดวางกรอบงบประมาณอยู่ในกรอบเดิมๆซ้ำซาก
...
การจัดทำงบประมาณในแต่ละปี อยู่บนกรอบเดิมๆคือ รายจ่ายประจำ การชำระหนี้ การลงทุน และการกู้เงินมาชดเชยงบประมาณแบบขาดดุล เป้าหมายคือการพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งถ้าเศรษฐกิจของประเทศยังติดกับดักของการพัฒนาระหว่างรายรับกับรายจ่าย ระหว่างนำเงินงบประมาณไปลงทุนทุ่มให้กับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศกับโครงการประชานิยมที่ต้องใช้เงินกู้เป็นหลักหารายได้จากการเก็บภาษี การส่งออกและบริการ
งบประมาณก็ไม่ต่างจากแท่งไอติม.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม