ผมเขียนเรื่อง “โอซากาศูนย์กลางการเงินใหม่โลก” วันศุกร์ที่แล้ว ได้พูดถึง Ignite Thailand เปิดตัว “ประเทศไทย : ศูนย์กลางการเงินโลก” ว่า จนถึงวันนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า แต่วันนี้ทราบว่าคืบหน้าไปเยอะ กระทรวงการคลังได้ยกร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเงินโลกเสร็จแล้ว ช่วงนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆไปจนถึงวันที่ 9 มกราคม คือวันพรุ่งนี้เป็นวันสุดท้าย
สาระสำคัญ ร่างกฎหมายศูนย์กลางการเงินโลก มี 9 หมวด 96 มาตรา กระทรวงการคลังจะเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณะก่อนเสนอ ครม.และรัฐสภา
ร่างกฎหมาย Financial Hub ของไทยฉบับนี้ กำหนดให้มี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน ซึ่งมีฐานะเป็น “นิติบุคคล” แต่ “ไม่เป็นส่วนราชการ” คณะกรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีคลัง เป็นประธานกรรมการ โดยตำแหน่ง 8 คน คือ ปลัดคลัง ปลัดมหาดไทย ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เลขาธิการ คปภ. เลขาธิการ ก.ล.ต. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการ ปปง. เลขาธิการบีโอไอ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน กฎหมายการเงิน และบัญชี อีก 3–5 คน
กฎหมายยังได้มีการนิยาม ผู้ประกอบการธุรกิจ ธุรกิจเป้าหมาย ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริการการชำระเงิน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ ผู้มีอำนาจในการจัดการ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ หน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการ สำนักงานผู้อำนวยการ พนักงานเจ้าหน้าที่และรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจน
...
ธุรกิจเป้าหมาย ใน “ศูนย์กลางการเงินโลก” ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมาย ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ระบบการชำระเงิน หลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล การประกันชีวิต และการประกันวินาศภัย มาบังคับใช้กับการประกอบธุรกิจเป้าหมาย ตามประเภทและขอบเขตของการอนุญาตตามที่คณะกรรมการกำหนด เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจนั้นเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สิทธิประโยชน์ ของผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub จะได้รับการ ยกเว้นการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ได้รับสิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร ถือว่าเป็นบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศภายใต้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา คณะกรรมการอาจประกาศให้สามารถประกอบวิชาชีพใดที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีสัญชาติไทยหรือต้องได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองก่อนการประกอบวิชาชีพในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดให้เป็น Financial Hub
ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub ต้องชักชวน ขายสินค้า โฆษณา หรือให้บริการแก่ Non Resident เท่านั้น เว้นแต่เป็นการให้บริการในลักษณะเป็นตัวแทน นายหน้า ค้า จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ และการชักชวน ขายสินค้า โฆษณา หรือให้บริการแก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
เหตุผลในการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินในศูนย์กลางการเงินของหลายประเทศ อาจเผชิญปัญหาค่าเช่าและค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงมีแรงจูงใจที่จะย้ายสำนักงานจากพื้นที่เดิม และมองหาพื้นที่ใหม่ที่ต้นทุนธุรกิจไม่สูงเกินไป
ประเทศไทย มีค่าครองชีพต่ำกว่าทักษะแรงงานไทย โครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินของไทยก็พัฒนามากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค การพัฒนาให้เป็น “ศูนย์กลางทางการเงิน” จึงเป็นโอกาสของประเทศไทย ก็เห็นด้วยครับมีโอกาสก็ต้องลอง วันก่อนผมยังไม่เห็นร่างกฎหมายฉบับนี้ เมื่อเห็นแล้วก็นำมาเล่าสู่กันฟัง จะเกิดไม่เกิดก็อยู่ที่ทำช้าหรือเร็ว.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม