“อดีตนายกฯ ทักษิณ” แจง นัดพบนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อวานนี้ หารือเรื่องเศรษฐกิจ การสร้างอาเซียน รวมกันเป็นหนึ่ง  ห่วงสถานการณ์สื่อขยายข่าวมากเกินไป ชี้นำสังคมด้วยอารมณ์ ระบุ ชอบใจในปณิธาน “ป๋ากำพล”

วันที่ 27 ธันวาคม 2567 ที่อาคารมูลนิธิไทยรัฐ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าอวยพรวันครบรอบ 75 Anniversary celebration & Open House พร้อมกล่าวว่า เผลอแป๊บเดียวนะ ไทยรัฐกับตนเอง รู้สึกอายุใกล้ๆ กัน คือตนเองรู้จักนายกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ นานมากเพราะว่าเป็นเพื่อนกับพ่อ ก็ได้พบกับท่านหลายโอกาส ล่าสุดที่ผมสมัครเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ท่านก็ให้ผมเข้าพบ ก็คือท่านเสียชีวิตปี 39 ก็รักและเคารพท่านเสมอ ครอบครัวไทยรัฐก็เลยเหมือนกับเป็นคนที่ใกล้ชิดกันเป็นญาติกัน สิ่งที่ผมชอบใจคือปณิธานของท่าน เพราะท่านสร้างตัวจากไม่มีอะไรมา แล้วก็สร้างมาจนถึงเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ และลูกหลานก็ได้มีการปรับตัวไปตามยุคตามสมัย ซึ่งวันนี้เรื่องของสื่อสารมวลชนได้เปลี่ยนไปเยอะ แต่ก็ทางไทยรัฐก็ยังปรับตัวทันต่อเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา

“ก็หวังว่าสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ไทยรัฐมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ต่อไป จาก 75 ปี ก็ให้มีร้อยปี ในโอกาสนี้ก็ขอแสดงความยินดีกับไทยรัฐลูกหลานของท่านป๋ากำพล แล้วก็พนักงานทุกคนที่อยู่กัน ทำให้ไทยรัฐเป็นสื่อที่สังคมอ้างอิงง่าย ก็ขอให้เป็นสื่อชั้นนำของประเทศต่อไป” นายทักษิณ กล่าว

...

นอกจากนี้ นายทักษิณ ยังกล่าวถึงการเดินทางไปพบนายอันวาร์ อิบาฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวานนี้ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ได้พูดคุยเรื่องสถานการณ์ในภาคใต้ เรื่องอาเซียนและเมียนมาร์ รวมถึงสถานการณ์ของโลก หลังจากที่โลกได้เปลี่ยนแปลงไป โดยได้พูดคุยกันเยอะ โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศไทย อีกทั้งตอนนี้อาเซียนต่างคนต่างอยู่จึงอยากให้อาเซียนมีความเข้มแข็ง รวมกันเป็นหนึ่งและเป็นพลังของ 700 ล้านคน ให้มีพลังมากกว่าเดิม ถ้าไม่เช่นนั้นจะเป็นพลังของประเทศไทยกว่า 70 กว่าล้านและมาเลเซีย 20 กว่าล้าน การจะทำให้รวมกันจะทำให้เป็นพลังรวมกันได้ก็ต่อเมื่อร่วมไม้ร่วมมือกัน เป็นนโยบายรวมของอาเซียน

นอกจากนี้ นายทักษิณ ยังกล่าวอีกว่า หลังกลับเข้ามาในประเทศไทยและใช้ชีวิตได้หนึ่งปีกว่า ว่า วันนี้เป็นห่วงเรื่องสื่อมวลชน เพราะสื่อไปขยายข่าวมากเกินไปจากเนื้อหาที่แท้จริง ซึ่งการอธิบายข่าวเป็นเรื่องที่ดีแต่การขยายข่าวบางทีอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งตนไม่อยากให้สื่อไปชี้นำสังคมด้วยอารมณ์หรือความรู้สึกของตนเอง อยากให้สื่อมวลชนอยู่กับความจริง อยู่กับหลักวิชาที่ถูกต้องมากกว่าจะอยู่ด้วยอารมณ์และความชอบไม่ชอบ