ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีในทางการเมืองนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่แต่ละพรรคจะต้องคิดและวางแผน หากหวังที่จะชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนนำรัฐบาลเพื่ออำนาจ

“เพื่อไทย” นั้นมีประสบการณ์ทางการเมืองมากพอสมควรเนื่องจากมีบุคลากรที่ผ่านประสบการณ์จริงมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย

ที่ชนะเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลอย่างยาวนานกว่าพรรคอื่นๆ

อีกทั้งเคยชนะเคยแพ้และถูกยึดอำนาจก็เคยมาแล้ว

ยิ่งวันนี้ “ทักษิณ ชินวัตร” เข้ามาคุมบังเหียนเองย่อมได้เปรียบกว่าพรรคอื่นๆ และคนการเมืองส่วนใหญ่ก็เคยอยู่ในสังกัดมาก่อน

ดังนั้น ตื้นลึกหนาบางจึงอยู่ในสายเลือดเป็นอย่างดี!

แต่วันนี้รัฐบาล “เพื่อไทย” ภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี แม้ยังด้อยประสบการณ์และคุ้นชิน

แต่ก็ยังมี “พ่อ” ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถคุมสภาพการเมืองได้ค่อนข้างดี และยิ่งกว่านั้นนักการเมืองแม้จะอยู่คนละพรรคแต่ก็ยังเกรงบารมีอยู่

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลนั้นถือเป็นเรื่องปกติ อยู่ที่เกิดจากประเด็นอะไรและมีผลต่อกันแค่ไหน

อย่าง พ.ร.บ.ประชามติที่มีความเห็นต่างระหว่าง “เพื่อไทย” กับ “ภูมิใจไทย” โดยเฉพาะประเด็นการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ทันใช้ในปี 2570

“เพื่อไทย” ต้องการแก้ไขให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างที่ประกาศเอาไว้ จึงมีความพยายามที่จะผลักดันให้เป็นแบบชั้นเดียวเพราะไม่ต้องใช้เวลามากทำให้แก้ไขไม่ทันใช้ในปี 2570

แต่ “ภูมิใจไทย” เห็นต่างยืนยันว่าต้องประชามติ 2 ชั้น โดยมี สว.เห็นสอดคล้องกันจึงถูกผูกโยงว่าไม่ต้องให้มีการแก้ไข

...

ล่าสุดที่ประชุมสภาผู้แทนฯเห็นชอบให้เป็นแบบประชามติชั้นเดียว แต่ภูมิใจไทยไม่เห็นชอบด้วย การอภิปรายโจมตีกันค่อนข้างรุนแรง

“ภูมิใจไทย” ถูกกล่าวหาว่าถ่วงความเจริญระบอบประชาธิปไตย

ที่สำคัญคือ ทำให้รัฐบาลเกิดปัญหาขัดแย้งความเห็นไม่ลง รอยกันระหว่างพรรคแกนนำกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้ “ทักษิณ” เคยระบุว่าเป็นรัฐบาลด้วยกันต้องไปในทิศทางเดียวกัน

แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้เกิดความต่างกันในพรรคเพื่อไทยคือ บรรดาแกนนำพรรคไล่ตั้งแต่หัวหน้าพรรคออกมาพูดตรงกันว่าไม่มีปัญหาเป็นเพียงความเห็นต่างเท่านั้น

“ทักษิณ” เองก็บอกว่าไม่มีอะไร ยังคุยกับพรรคภูมิใจไทยตามปกติ

สรุปก็คือไม่มีปัญหายังทำงานด้วยกันได้...

แต่ที่น่าสังเกตคือ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงหัวหน้าพรรคไม่ได้เข้าประชุมทั้งที่เป็นร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ทำให้เสียงสนับสนุนขาดไป 20 กว่าเสียง

เท่ากับว่าเกิดความเห็นต่างเหมือนกัน!

ความจริงพรรครวมไทยสร้างชาติที่ผ่านมาก็มีความเห็นต่างกับพรรคเพื่อไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะการที่ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรค บอกว่าไม่เข้าเป็นคณะกรรมการร่วมเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา

และเรื่องการไม่สามารถลดค่าไฟตามที่นายกรัฐมนตรี และ “ทักษิณ” ต้องการได้

แค่ 2 เรื่องนี้คงทำให้ “ทักษิณ” และนายกรัฐมนตรีไม่ค่อยชอบใจนักเพราะเท่ากับไม่สนองความต้องการ และเป็นเรื่องสำคัญของ “เพื่อไทย” ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดต่างๆค่อนข้างจะไปคนละทาง รวมถึงไม่ค่อยจะสนิทสนมคุ้นเคยกันเท่าใด จึงถูกมองว่าพรรคนี้คือเป้าหมายที่ “ทักษิณ” กล่าวถึงว่าเป็น “อีแอบ”

สรุปก็คือ “ทักษิณ” ต้องการเขี่ยรวมไทยสร้างชาติออกไปมากกว่า “ภูมิใจไทย” ที่คุ้นเคยและพูดคุยกันได้มากกว่า

อีกทั้ง “ภูมิใจไทย” มี 71 เสียง หากออกจากรัฐบาลจะเกิดปัญหาแน่ แต่รวมไทยสร้างชาติแค่ 30 กว่าเสียงไม่น่าจะมีปัญหา ว่ากันว่าหลังปีใหม่อาจจะได้เห็นปฏิบัติการคล้าย “พลังประชารัฐ”

คือเขี่ยออกไปแล้วยึดคืนกระทรวงพลังงาน!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม