“พิชัย นริพทะพันธุ์” โชว์วิสัยทัศน์บนเวทีอาเซียน-ญี่ปุ่น ดึงดูดการค้า-ลงทุน ให้ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนเบอร์ 1 ต่อเนื่อง ย้ำไทยพร้อมเป็นฮับการผลิต PCB - Data Center - AI - ยานยนต์ยุคใหม่ ของอาเซียน
วันที่ 20 ธันวาคม 2567 เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกล่าวเปิดงาน “ASEAN-Japan Economic Co-Creation Forum 2024” ตามคำเชิญของ Mr. MUTO Yoji (นายมูโตะ โยจิ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมองและแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยมี Mr. Nguyen Hong Dien (นายเหงียน ห่ง เตี้ยน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม เลขาธิการอาเซียน ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (JCCI) ผู้แทนจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตลอดจนคณะผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งอาเซียนและญี่ปุ่นร่วมงานกว่า 300 ราย
นายพิชัยกล่าวว่า ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาอย่างต่อเนื่อง เรามีรัฐประหารในปี 2014 การลงทุนจากต่างชาติลดลงต่อเนื่อง แต่เมื่อเรากลับมามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งการลงทุนก็กลับมา วันนี้เราอยากเห็นญี่ปุ่นกลับมาลงทุนในไทยเป็นเบอร์หนึ่งของไทยต่อไป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ PCB เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล AI ยานยนต์ยุคใหม่ และพลังงานสะอาด
ไทยมีความพร้อมในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีการส่งเสริมการลงทุนและการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ ยานยนต์ยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยยังพร้อมเป็นฮับ PCB ของภูมิภาคด้วย ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับ UAE ในการทำ Intelligence center และร่วมกับบริษัท Microsoft และ Google สร้างการลงทุนขนาดใหญ่ พร้อมที่จะเป็นฐานการผลิตและที่ตั้งของ Data Center ของอาเซียน
...
“วันนี้ขอต้อนรับนักลงทุนจากทั่วโลกที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยไทยมีแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติที่ครอบคลุมแนวทางในการพัฒนาและการรับมือต่อความท้าทายด้าน AI ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการพัฒนาพลังงานสะอาดซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทย” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย ระบุเพิ่มเติมว่า อาเซียนและญี่ปุ่นเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนร่วมกัน จึงได้จัดทำข้อริเริ่ม “การออกแบบอนาคตและแผนปฏิบัติการสำหรับการร่วมสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนของความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น” เมื่อปี 2566 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและรับมือกับความท้าทายทางสังคมระหว่างกัน โดยเตรียมจัดทำแผนแม่บทสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคต่อไประหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น และแผนการดำเนินการร่วมสร้างสรรค์ต่อนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 เพื่อให้ความเห็นชอบทั้งสองแผนดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 31 ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2568 อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกยานยนต์ยุคใหม่ รวมถึงการนำดิจิทัลและ AI มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่นในทศวรรษต่อไป
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2566 การค้าระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 241,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของอาเซียน ขณะที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนโดยตรงในอาเซียน เป็นมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในอาเซียนมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในปี 2566 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 55,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 24,594 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า และไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น 31,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์