เมื่อวานนี้ผมเขียนให้กำลังใจโครงการ “คุณสู้ เราช่วย”เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของคนไทย ที่ท่านนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ตั้งใจจะดำเนินการในปี 2568 และผมก็อวยพรขอให้ประสบความสำเร็จ
ก็พอดีได้อ่านบทสัมภาษณ์ของท่านอาจารย์ สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ที่ผมเป็นแฟนคลับท่านมานานมาก...ว่าด้วยโครงการเก่าที่นายกฯอิ๊งค์จะนำมาปัดฝุ่นใหม่ เป็น 1 ใน “ความหวังและโอกาส” ของคนไทยที่ท่านจะดำเนินการในปีหน้า
ได้แก่ โครงการ “1 อำเภอ 1 ทุน” ที่ท่านผู้อ่านที่ติดตามผลงานของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร มาตั้งแต่ยุคต้นๆ คงจะคุ้นหูเป็นอย่างยิ่ง
ผมเองก็คุ้นหูครับ และคุ้นตาด้วย เพราะเคยอ่านรายการวิจัยเชิงประเมินผลโครงการนี้มาแล้วเช่นกัน จำได้ดีว่าเป็นโครงการที่มีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก
พอได้อ่านคำสัมภาษณ์ของท่านอาจารย์สมพงษ์ จิตระดับ ก็นึกความทรงจำเก่าๆที่เคยอ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาทันที ซึ่งเมื่อสรุปแล้วก็จะเป็นดังที่ท่านอาจารย์สมพงษ์ให้สัมภาษณ์ มติชน ออนไลน์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเสียเป็นส่วนใหญ่
ท่านบอกว่าโดยหลักการนโยบาย 1 อำเภอ 1 ทุน เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมาทบทวนข้อดีข้อเสียจากการดำเนินการที่ผ่านมารวมทั้งต้องนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาด้วย
ที่ว่าเป็นข้อดีก็เพราะนโยบายของเรื่องนี้ตั้งใจส่งเสริมให้ “เด็กเรียนดี” แต่ยากจน (ในระดับอำเภอ) ได้มีโอกาสไปเรียนต่างประเทศ
แต่ ต่างประเทศ ของโครงการนี้ตามเจตนารมณ์เดิมนั้นไม่ใช่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก (เช่น อังกฤษ, สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ ฯลฯ) ที่ผ่านมาจึงส่งไปในยุโรป เช่น เยอรมนี อิตาลี เป็นต้น หรือในเอเชียก็เช่นจีน เวียดนาม เป็นต้น
ภาษาของประเทศเหล่านี้มักไม่ค่อยมีการสอนในบ้านเราหรือถ้ามีก็ไม่กว้างขวางนัก ทำให้โอกาสที่จะเตรียมตัวด้านภาษาก่อนเดินทางของเด็กรับทุนแทบไม่มีเลย
...
เมื่อไปถึงที่โน่นจึงประสบความยากลำบากในการที่จะสื่อสารกับคนท้องถิ่นและยากขึ้นไปอีกเวลาเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่อาจารย์บรรยายด้วยภาษาของเขาเอง ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ
จึงเกิดปัญหาเด็กเรียนไม่จบ เกิดความท้อถอยขอกลับบ้านก่อนกำหนดอยู่เสมอๆ
อีกจุดหนึ่งที่เป็นปัญหาและพูดถึงกันมากคือปัญหาเรื่องเด็กเส้น เพราะเด็กที่ได้ทุนจำนวนไม่น้อยไม่ใช่เด็กยากจนจริงๆ ฯลฯ
ท่านอาจารย์สมพงษ์จึงฝากไว้เป็นข้อสังเกตว่า โครงการนี้ แต่แรกใช้เงินกองสลาก แต่ต่อมาใช้เงินงบประมาณ จึงเท่ากับเป็นการลงทุนมหาศาล และให้ผลตอบแทนค่อนข้างตํ่า
ถ้าจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่จะต้องมีคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ และไม่ควรนำเรื่องนี้มาอิงกับการเมือง รวมถึงต้องมีระบบการวางแผนส่งคนไปเรียนใน 5-10 ปีอย่างเป็นระบบ
เสียดายที่เอกสารประเมินผลโครงการนี้ที่ผมเคยอ่าน เพราะมีคนส่งมาให้ผมไม่ได้อยู่ที่โรงพิมพ์เสียแล้ว แต่จากความทรงจำ ผมยืนยันได้ว่าเหมือนๆกับที่ท่านอาจารย์สมพงษ์ จิตระดับ ให้สัมภาษณ์นี่แหละครับ
ผมจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของท่านอาจารย์ ที่กล่าวว่าโครงการนี้โดยหลักการแล้วดี แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก
จึงต้องคุยกันยาวๆครับ เพราะไม่ว่าจะใช้เงินจากส่วนไหน แม้แต่เงินจากกองสลากก็เป็นเงินของรัฐเช่นกัน ยิ่งถ้าเป็นเงินงบประมาณ ยิ่งต้องคิดหนักเลย
ขอฝากท่านนายกฯเอาไว้ด้วยครับ สำหรับโครงการนี้...เป็นโครงการที่ฟังแต่ชื่อแล้วดูดีมาก แต่พอปฏิบัติแล้วกลับมีปัญหามาก จึงควรจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้งครับ...ก่อนตัดสินใจ.
"ซูม"
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม