รัฐบาลเวียดนามประกาศทุ่มงบ 2.2 ล้านล้านบาท ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะทางกว่า 1,500 กม.จากต้นทาง กรุงฮานอย ถึงปลายทางกรุงโฮจิมินห์ ภายใน 4 ชั่วโมง
รถไฟความเร็วสูงเวียดนามใช้สปีดความเร็ว 350 กม.ต่อชั่วโมง ผ่าน 20 จังหวัด 23 สถานี และศูนย์กลางขนส่งสินค้าอีก 5 แห่ง เพื่อยกระดับการค้าการลงทุนและขีดความสามารถการแข่งขันของเวียดนามให้ทะเยอ ทะยานยิ่งขึ้นอีกเท่าตัว
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเหนือสุดถึงใต้ของเวียดนามจะเริ่มเปิดหวูดในปี 2575 หรืออีก 8 ปีจากนี้ไป
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเวียดนามออกตัวช้าแต่เสร็จเร็ว
เทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยสายกรุงเทพฯถึงหนองคาย ระยะทาง 608 กม. เริ่มก่อสร้างเฟสแรก “กรุงเทพฯ-โคราช” ระยะทาง 253 กม. ตั้งแต่ปี 2563
ผ่านไปแล้ว 4 ปี มีความคืบหน้าแค่ 36 เปอร์เซ็นต์
ส่วนเฟสที่ 2, “โคราช–หนองคาย” ระยะทาง 355 กม. จะขยายต่อไปหลังจากการก่อสร้างเฟสแรกเสร็จสมบูรณ์
สรุปว่าคนไทยจะได้นั่งรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ–หนองคายแน่นอน
โปรดรอคอยต่อไปด้วยความอดทน
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่ารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ–โคราช แม้จะล่าช้าไปบ้างก็มีการก่อสร้างให้เห็นเป็นรูปธรรม
แต่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุนกว่า 2.2 แสนล้านบาท เซ็นสัญญาแล้ว 5 ปี ยังไม่ได้เริ่มต้นก่อสร้างแม้แต่ 1 เปอร์เซ็นต์
ความล่าช้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทำให้ประเทศ ไทยสูญเสียโอกาสการค้าและการลงทุน
และทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยถดถอยลงๆๆ
...
สาเหตุที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต้องแช่เบ้ามาแล้ว 5 ปี เพราะบริษัทเอเชีย เอรา วัน ของกลุ่มซีพีขอแก้ไขเงื่อนไขสัญญาที่ได้ตกลงไว้เดิม
เป็นปัญหาคาราคาซังตั้งแต่รัฐบาลลุงตู่ จนถึงรัฐบาลเศรษฐาและยืดเยื้อมาถึงรัฐบาลแพทองธาร
พูดอย่างกำปั้นทุบดิน หากต้องการให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเดินหน้าต่อไป
รัฐบาลต้องยอมแก้เงื่อนไขสัญญา ตามที่ฝ่ายเอกชนผู้ชนะประมูลโครงการนี้เสนอมา
ถ้าไม่แก้สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก็ติดแหง็กอย่างเดิม!!
“แม่ลูกจันทร์” ประเมินว่า หากรัฐบาลยอมแก้สัญญาก่อนสิ้นปีนี้
โครงการรถไฟความเร็วสูงจะเปิดหวูดได้ในปี 2572
หรืออีก 5 ปีนับจากนี้ไป
แต่ถ้ารัฐบาลจะล้มกระดานเปิดประมูลใหม่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเปิดหวูดได้อย่างเร็วในปี 2576
หรืออีก 9 ปีจากนี้ไป
เทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเวียดนาม 1,541 กม. ออกตัวช้ากว่ารถไฟความเร็วสูงไทย 10 ปี
แต่สร้างเสร็จเร็วกว่ารถไฟความ เร็วสูงของไทย 5 ปี
เจ็บกระดองใจมั้ยล่ะโยม??
"แม่ลูกจันทร์"
คลิกอ่านคอลัมน์ “สำนักข่าวหัวเขียว” เพิ่มเติม