สอดรับกันเป็นอย่างดีระหว่าง “พ่อ–ลูก” ที่กุมบังเหียนรัฐบาล คือต้องการที่จะให้อยู่ครบเทอมแล้วค่อยเลือกตั้งกันใหม่

คงตรงกับใจของบรรดานักการเมืองที่ไม่ค่อยชอบให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะไม่ต้องการเสี่ยงว่าจะได้กลับมาอีกหรือไม่

อีกทั้งการเลือกตั้งนั้นต้องมีค่าใช้จ่ายไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละคน

หากสังกัดพรรคดีมีกระแสนิยมและมีนายทุนเกื้อหนุน

ก็พอไหว ตรงกันข้ามกระแสพรรคไม่แรงและไม่มีค่าใช้จ่ายต้องควักเอง

แบบนี้คงไม่มีใครชอบแน่ เพราะโอกาสสอบตกมีสูง

และไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป

แต่การเมืองนั้นไม่มีอะไรแน่นอน หรือเจาะจงว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้คงไม่ได้ เพราะมันมีเงื่อนไขและตัวแปรอื่นกำหนด

วันนี้อำนาจอยู่ที่ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรครัฐบาล โดยมี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นผู้กำกับ

คนอื่นหรืออย่างอื่นเป็นเพียงผู้เล่นเท่านั้น...

แต่พรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันก็มีส่วนสำคัญมากพอสมควร เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม ถ้ารวมหัวกันไม่เอารัฐบาลก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน

ความเป็นไปของรัฐบาลชุดนี้ แม้จะมีเสียงสนับสนุนที่ทำให้เสถียรภาพมั่นคง แต่ก็มีความเปราะบางไม่น้อยเหมือนกัน

ปีหน้า (2568) น่าจะได้เห็นอะไรที่ชัดเจนถึงความเป็นไปในอนาคตข้างหน้าได้ว่า จะไปรอดถึงครบเทอมได้หรือไม่

เพราะอะไรต่อมิอะไรมันงวดเข้าไปทุกที คือไม่แตกหักก็ราบรื่น

โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นตัวชี้ขาด ยิ่งแรงเหวี่ยงสำคัญจากสถานการณ์โลกจากการที่สหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีคนใหม่ ที่นโยบายด้านหนึ่งก็จะทำให้ความเป็นไปของโลกดีขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่งก็จะทำให้โลกยุ่งเหยิงมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดฉากสงครามการค้าที่สหรัฐฯพุ่งเป้าไปที่จีน

...

พูดง่ายๆว่า ไม่มีทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบได้!

เศรษฐกิจ-ภาวะสงครามจะทำให้โลกถูกเขย่าอย่างหนัก

นั่นทำให้ไทยแม้เป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็มิอาจหลีกหนีแรงเหวี่ยงนี้ไปได้ แม้จะวางตัวเป็นกลางไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง

แต่ในเมื่อช้างสารชนกันไม่มีทางที่จะเกิดความสงบสันติได้

ในฐานะรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบต่อเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 20 ม.ค.2568 ซึ่ง “โดนัลด์ ทรัมป์” จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

ก็นับหนึ่งได้เลย...

ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมต่างๆจึงต้องคิดและวางแผนตั้งแต่วันนี้ เพราะมิฉะนั้นจะไม่ทันการ แต่จากสภาพการณ์ของรัฐบาลในปัจจุบันที่ต้องเผชิญปัญหาทั้งภายในและภายนอกที่ส่อว่าจะถึงวันแตกหักในบางเรื่องบางประเด็น

ที่ต่างกับการเริ่มต้นเข้าบริหารประเทศใหม่ๆลักษณะไปไหนไปกันอันแสดงถึงความเป็นหนึ่งแต่ปัจจุบันหาเป็นเช่นนั้นไม่

กลายเป็นปัญหาทั้งภายในรัฐบาลเองและภายนอกรัฐบาลที่เริ่มมีความเคลื่อนไหวเพื่อปลุกม็อบขึ้นมาแล้ว

จะจุดติดหรือไม่ติดไม่อาจคาดการณ์ได้

แต่มันเป็นสัญญาณเตือนว่า หากไม่สามารถแก้ไขหรือดับชนวนนั้นได้มีโอกาสที่จะนำพาไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นั้นได้

โดยเฉพาะ “หัวเชื้อ” สำคัญกลับคืนสู่ประเทศแล้ว

ที่สำคัญก็คือ ต่างฝ่ายต่างก็มีมวลชนที่พร้อมจะออกมาหนุนช่วยอยู่แล้ว!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม