คว้าชัยเข้าสู่ทำเนียบขาวรอบสอง “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่คัมแบ็กกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้งหลังเอาชนะ “คามาลา แฮร์ริส” ไปได้อย่างขาดลอยแถมยังครองเสียงข้างมากทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาอีกด้วย ตอนนี้รอเพียงการสาบานตนก็เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐบาลอเมริกันครั้งสำคัญในการกลับมา “ทรัมป์เวอร์ชัน 2” ทำให้ทั่วโลกต่างจับจ้องว่าประธานาธิบดีคนนี้จะเปิดแนวรบกับต่างประเทศแบบใดโดยเฉพาะนโยบายกีดกันการค้า และการตั้งกำแพงภาษีนำเข้า รัฐบาลทรัมป์ 2 จะทำให้โครงสร้าง และพัฒนาการของระบบการค้าเสรีโลกจะเปลี่ยนไป

“โลกาภิวัตน์จะไม่เหมือนเดิม” โดยเฉพาะประเทศจีนจะตอบโต้ทางการค้า ผลสุทธิด้านสวัสดิการเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวมของโลกจะย่ำแย่ลงสะท้อนมาที่ปริมาณ และมูลค่าการค้าโลกลดลงในปีหน้า

ทั้งอัตราการขยายตัว “จีดีพีโลกก็ลดลง” จากปัจจัยดังกล่าวจีนอาจมีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงครึ่งหนึ่งหากขึ้นภาษีถึง 60% ในสินค้าทุกประเทศนำเข้าจากจีน “อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจอาจต่ำกว่า 3%” หากจีนหาตลาดมาชดเชยไม่ได้ ส่วนการส่งออกคิดเป็น สัดส่วน 14% ของการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนปีนี้

...

งานวิจัยต่างชาติชี้ทิศทางเดียวกันว่า “การปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องทางการค้า” มีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมากภายใต้ โครงสร้างการผลิตของโลก “เป็นห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงกันทั่วโลก” การขึ้นกำแพงภาษีนอกจากกระทบการเติบโตการค้า เศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังกระทบต่อการจ้างงานโดยรวม กระทบต่อผลิตภาพ

ทั้งกดทับการสร้างมูลค่าสินค้าบริการต่างๆ “การกีดกันการค้าของสหรัฐฯ” อาจทำให้ดุลการค้าสหรัฐฯดีขึ้นระยะสั้น แต่เกิดต้นทุนต่อเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อสูงการเติบโตระยะยาวลดลงได้ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย มองว่า

นอกจากเกิดการเปลี่ยนทิศทางการค้ายังจะนำมาสู่ “อัตราเงินเฟ้อโลกสูงขึ้น” โดยเฉพาะเงินเฟ้อในสหรัฐฯอาจสร้างแรงกดดันต่อการตัดสินใจในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารกลางสหรัฐฯได้ ดังนั้นการรักษาระบบการค้าเสรีของโลกต้องยึดถือระเบียบ การค้าโลกที่ตกลงเอาไว้เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศ

หากระบบการค้าโลกไม่ขึ้นกับระเบียบแต่ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองแบบไร้ระเบียบภายใต้ชาตินิยมในทางเศรษฐกิจระยะยาวแล้ว “จะไม่มีใครได้ประโยชน์” แถมมีโอกาสเกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจขยายวงกว้าง

คาดว่ามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอาจรุนแรงขึ้น “เพื่อตอบโต้กัน” ข้อมูล WTO พบการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่การตั้งกำแพงภาษีปี 2552-2567 มี 6 หมื่นมาตรการ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 1.8 หมื่นมาตรการ คิดเป็นสัดส่วน 30% มาตรการทั้งหมดแนวโน้มปีหน้าการกีดกันการค้าอ้างสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อมอาจเบาลง

ประเด็นคือ “ประเทศไทย” จำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจให้พึ่งพาตัวเอง เพิ่มสัดส่วนการผลิตใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองมากขึ้นเมื่อเทียบกับการรับจ้างการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองมากขึ้น เพราะระบบการค้าโลกจะเป็นเรื่องการต่อรอง และการตอบโต้กันไปมามากกว่าทำกฎระเบียบตกลงกันไว้มาเป็นกรอบ

ในการดำเนินการทางการค้าคือ “จะเป็นตามข้อตกลงมากกว่าตามกฎเกณฑ์” แล้วมีแนวโน้มที่รัฐบาลทรัมป์ 2 อาจถอนตัวจาก Trans-Pacific Partnership (TPP) และยกเลิกความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Framework ของรัฐบาลไบเดน ดังนั้นไทยต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศใหม่

ทั้งเตรียมตัวสำหรับ “การเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น 10% จากทุกประเทศ” คาดการณ์ได้ว่านโยบายเศรษฐกิจการค้ารัฐบาลทรัมป์ 2 จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกย้ายออกจากจีน และลดการพึ่งพาต่อจีนแล้วเอาการจ้างงานการผลิตสินค้ากลับมา “สหรัฐฯ” เพิ่มการจ้างงานในประเทศ และลดการนำเข้าลดการขาดดุลการค้า

สงครามเทคโนโลยีสหรัฐฯในการสกัดกั้นไล่กวดของจีนจะเพิ่มความได้เปรียบของการผูกขาดบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯอันจะเกิดได้จาก 2 ปัจจัย คือ 1.เป็นเทคโนโลยีพัฒนาโดยบริษัทของสหรัฐฯที่ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ปิดกั้นการลอกเลียนต่อยอด 2.การกระจายสินค้าไฮเทค และสร้างแบรนด์ที่ผู้อื่นลอกเลียนได้ยาก

แต่ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนนี้อาจเกิดการย้ายฐานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกที่จะเกิดขึ้น “ไทย” ต้องช่วงชิงโอกาสจากการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่นี้เช่นเดียวกับที่เคยมีการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่หลังข้อตกลงพลาซาแอคคอร์ด (Plaza Accord) ระหว่างสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น

ถ้าดูจาก “สงครามการค้าทรัมป์ 1.0” มูลค่านำเข้าของสหรัฐฯจากจีนช่วงปี 2560-2566 ลดลง 15% แต่จีนก็ยังเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าการนำเข้ากว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้นในปี 2568 หากมีการตั้งกำแพงภาษีสูงถึง 60% กับจีนตามที่ทรัมป์หาเสียงเอาไว้ “ไทย” มีโอกาสส่งออกทดแทนจีนถ้าสินค้าไทยแข่งขันได้

เพราะสงครามการค้าครั้งก่อน “มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ จากไทย และอาเซียน เพิ่มขึ้นสูงถึงมากกว่า 80%” ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการแสวงหาตลาดนำเข้าใหม่ทดแทนจีน แล้วงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ช่วงเวลาที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจากจีนได้เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2560-2566

คราวนั้น “ไทยได้สัดส่วนในตลาดนำเข้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 0.5% (จาก 1.3% เป็น 1.8%)” แต่ก็สูญเสียตลาดในยุโรป และอาเซียน 0.1% และ 0.5% ขณะที่จีนได้ส่วนแบ่งในยุโรป และอาเซียน 2.0% และ 5.2% แสดงให้เห็นว่าจีนย้ายตลาดส่งออกไปตลาดอื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักร

อย่างไรก็ดี ไทยอาจเจอข้อจำกัดปริมาณส่งออกโดยสมัครใจตามยุทธศาสตร์เจรจาการค้าทวิภาคีของสหรัฐฯ “ไทย” อยู่ในฐานะมีความเสี่ยงจากการที่เกินดุลการค้าจากสหรัฐฯต่อเนื่อง 10 ปีที่ผ่านมา “สหรัฐฯ” อาจขอให้ไทยกำหนดโควตาปริมาณส่งออกสินค้าบางประเภท และมีสินค้าบางตัวที่มีความเสี่ยงอาจถูกกีดกันการค้า

นี่คือสถานการณ์ “สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน” ที่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า “ไทยควรวางสถานะอิสระอย่างมียุทธศาสตร์” การพิจารณาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรฝ่ายใดก็ให้พิจารณาเป็นรายประเด็นด้วยกลยุทธ์ที่มีกรอบยุทธศาสตร์ผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม