“เท้ง ณัฐพงษ์” มอง ข้าวไทยโดดเด่น ต่อยอดสุราชุมชน ส่งเสริมท่องเที่ยว ยกระดับวิถีชีวิตเกษตรกร หวังรัฐปลดล็อกเรื่องใบอนุญาตให้เป็นใบเดียว ชี้การเมืองต้องออกแบบกฎกติกาให้เข้ากับวิถีชีวิตคนในพื้นที่
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวในงานเสวนาเมรัยไทยแลนด์ ในวันแรก ซึ่งจะมีการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2567 ที่ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ ว่า สุราชุมชนนั้นเกี่ยวกับการเมืองอย่างแน่นอน อีกทั้งเกี่ยวเนื่องจากร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต หรือ กฎหมายสุราชุมชน พร้อมยกตัวอย่างว่า ที่ผ่านมาตนเคยเดินทางไปที่ จ.หนองคาย มีการผลิตสาโทจากข้าวเม่า ซึ่งกฎหมายในขณะนี้เกี่ยวการเมืองโดยตรง อีกอย่างที่เกี่ยวคือวิถีชีวิตในท้องถิ่น การกระจายอำนาจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว วิถีการดื่มการกิน ความเชื่อทางศาสนาต่างๆ
...
ในประเด็นว่าการเมืองเป็นปัญหาหรือไม่ที่จะช่วยให้สุราชุมชนเติบโต นายณัฐพงษ์ ให้ความเห็นว่า ถ้าจะมองให้ลึกเรื่องการส่งเสริมรายได้ในพื้นที่ สุราชุมชนทำให้เกษตรกรแทนที่จะแข่งกันปลูกข้าว แข่งกับเวียดนาม อินโดนีเซีย แต่เราหันมานำข้าวผลิตเป็นสุรา ซึ่งภาครัฐและการเมืองสามารถสนับสนุนได้ เพราะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเกษตรกร ท้องถิ่น และการท่องเที่ยว
เมื่อถามถึงโอกาสว่าจะทำอย่างไรให้สุราชุมชน-คราฟต์เบียร์ไทยโตขึ้นมากกว่านี้ นายณัฐพงษ์ ระบุว่า สุราเท่ากับอาหาร มองว่าเกิดขึ้นได้ถ้ารัฐบาลสนับสนุนได้ถูกต้อง มีกติกาการแข่งขัน การควบคุมมาตรฐานคุณภาพของสุรา ในกรณีเมทานอลที่เป็นข่าวนั้น มองว่าเกิดจากพ่อค้าอาจจะแอบผสมเติมเข้าไป เพราะสุราชุมชนจริงๆ ไม่ได้อันตรายขนาดนั้น
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กำลังจะผ่านคณะกรรมาธิการในวาระที่ 2 ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมยกตัวอย่างในบางประเทศมีการใช้ดิจิทัลไอดียืนยันตัวตนในการซื้อออนไลน์ รัฐต้องหาตลาดให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก มีการยืนยันตัวตนกรณีซื้อผ่านตู้ขายตามจุดต่างๆ เรื่องนี้สามารถถกเถียงกันได้ รวมไปถึงมาตรการการขาย ขายวันไหน ขายกี่โมง ไม่ควรมาจากโครงสร้างรัฐรวมศูนย์ แต่ควรอยู่ที่ระดับท้องถิ่น เพราะมีวิถีแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน และจะเป็นสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ เช่น การสร้างรูทกินดื่มท่องเที่ยวในหัวเมืองต่างๆ
นายณัฐพงษ์ ยังได้กล่าวถึงเอกลักษณ์และความโดดเด่นของสุราชุมชนไทยว่า วิถีชีวิต เรื่องข้าว โรงสีแห่งหนึ่งใน จ.ร้อยเอ็ด และ จ.สุรินทร์ เคยได้ยินคำที่กล่าวว่า ไม่มีข้าวที่ไหนอร่อยเท่าที่ปลูกด้วยดินสุรินทร์ และแม้จะเอาพันธุ์ข้าวเดียวกันไปปลูกที่อื่นที่ดินสมบูรณ์กว่าก็ไม่อร่อยเท่า เพราะพันธุ์ข้าวเรียนรู้ที่จะอยู่รอดในพื้นที่แห้งแล้ง และความหอมจะออกมาก็ต่อเมื่อข้าวอยู่ในสภาพความเครียด มองว่าสามารถเอามาพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวได้ นอกจากอยากจะมาตามหาต้นตำรับจริงๆ และวัตถุดิบที่หาไม่ได้ที่ไหนในโลกแล้ว ที่ผ่านมาทั่วโลกแยกไม่ออกว่า ข้าวหอมมะลิ แตกต่างกับข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้อย่างไร แต่เราสามารถทำให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวอีสานใต้เพื่อพิสูจน์ในวัตถุดิบนั้นๆ ได้ อีกทั้งสามารถนำผลิตภัณฑ์จากไทยกลับไปบริโภคที่ต่างประเทศได้ด้วย จึงคิดว่าการใช้วัฒนธรรมชีวิตแบบนี้เป็นสิ่งที่รัฐควรส่งเสริม
“ตอนนี้เกษตรกรชาวนาประสบปัญหาความกดดันทั้งต้นทุนปัจจัยการผลิตราคาสูงขึ้น ในขณะที่ราคาในตลาดโลกเราก็โดนเวียดนามแซงเราไปแล้ว ราคาก็ตกลง ชาวนาเราพยายามที่จะถีบตัวเองเพื่อเข้าตลาดขายแข่งกับเวียดนาม อินโดนีเซีย แต่ถ้าเราเจาะกลุ่มตลาดที่เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เอาเรื่องสุรา การท่องเที่ยว วิถีชีวิตเป็นตัวนำ ซึ่งที่สุรินทร์ก็ทำให้ดู เขาไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา ถ้าคุณปลูกข้าวแบบออร์แกนิก ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเยอะๆ ไม่ต้องใช้ต้นทุน ไม่ต้องใช้ปัจจัยการผลิตเยอะๆ จะได้ข้าวคุณภาพดีที่สามารถเอามาผลิตสาโท ผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เขาก็พร้อมจะซื้อ สร้างดีมานด์ใหม่เป็นตลาดเฉพาะ เป็นการที่เราให้องค์ความรู้ไปพร้อมกัน”
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ตนเองอาจจะไม่ได้มีความรู้เท่าชาวนา แต่จากการลงพื้นที่รับฟังโครงการ ในบางพื้นที่ยังมีความเชื่อที่ผิด ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่มักทำนาหว่าน แต่การทำนาหยอด จะช่วยลดปริมาณข้าวได้มาก ต้นข้าวยิ่งน้อย ข้าวมีความเสี่ยงโรคต่ำลง ไม่แย่งอาหารกัน ทำให้ชาวนายอมเปลี่ยนความเชื่อ เราต้องการันตีว่าจะรับซื้อ มาร่วมโครงการกับเรา เขาจะเริ่มเปลี่ยนความเชื่อ
ในเรื่องการแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายต่างๆ ออกมาเพื่อแก้สิ่งที่ประชาชนทำไม่ได้นั้น นายณัฐพงษ์ ระบุว่า “รัฐที่เป็นคุณพ่อรู้ดี คิดแทนประชาชนได้ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญไม่แพ้กันเหมือนเรื่องสุราคือเรื่องการเมือง เราต้องคิดว่าวิธีในการออกแบบกฎกติกาในการควบคุมต้องเข้ากับวิถีชีวิตคนในพื้นที่ เราเห็นตรงกันว่าควรควบคุมในเรื่องของไม่ควรขายให้เยาวชน แต่ว่าเรื่องของกฎกติกาต่างๆ ว่าจะขายเมื่อไหร่ ขายอย่างไร จะขายที่ไหนได้บ้าง ควรจะเป็นเรื่องของท้องถิ่นในจังหวัดที่เขาสามารถออกแบบกติกาได้”
ในช่วงท้ายของการเสวนา ในคำถามถึงสิ่งที่จะช่วยผลักดันสุราชุมชน คราฟต์เบียร์ไทย และอยากให้ภาครัฐปลดล็อกเรื่องอะไรที่สุด นายณัฐพงษ์ เผยว่า อยากให้รัฐมีฐานข้อมูลวัตถุดิบ วิถีชีวิต วัฒนธรรมพื้นที่ ซึ่งบ้านเรา ข้าว ผลไม้ แต่ละพื้นที่มีความโดดเด่น อยากให้ภาครัฐมีต้นทุนทางวัฒนธรรม โปรโมตการท่องเที่ยว มีแคตาล็อกวัตถุดิบเด่นของแต่ละพื้นที่ ให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปพื้นที่นั้น โดยจะช่วยยกระดับชีวิตเกษตรกรได้ ปรับวิถีในการเพาะปลูกเข้ากับบริบทที่เราต้องการได้ เช่น ปลูกอ้อยโดยไม่เผา แล้วนำอ้อยมาทำเป็นเหล้ารัม ให้ความรู้กระบวนการต่างๆ เพื่อให้เข้าสู่เกษตรสมัยใหม่ ส่วนสิ่งที่อยากให้ปลดล็อก นอกจากเรื่องกำลังการผลิต คือ เรื่องใบอนุญาต ที่มองว่าควรเป็นใบเดียวที่สามารถครอบคลุมกับสุราทุกชนิด.