“ภูมิธรรม” เรียก ศปช. ประชุมด่วน เคาะงบช่วยเหลือฟื้นฟูอุทกภัยกว่า 3,000 ล้าน ก่อนชง ครม.สัญจร ศุกร์นี้ พร้อมเตือน 10 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังฝนตกหนักปลาย พ.ย. - ต้น ธ.ค. อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขัง น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เป็นประธานประชุม ศปช.นัดพิเศษ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการตามที่กรมชลประทาน เสนอขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมโครงการ และฟื้นฟูโครงการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จำนวน 564 รายการ วงเงิน 2,999.8009 ล้านบาท
1. ซ่อมแซมงานชลประทาน จำนวน 374 โครงการ วงเงิน 1,122.5594 ล้านบาท
2. ปรับปรุงงานชลประทาน จำนวน 39 โครงการ วงเงิน 457.7950 ล้านบาท
3. ขุดลอกคลอง จำนวน 15 โครงการ วงเงิน 24.7100 ล้านบาท
4. ขุดลอกอ่างเก็บน้ำ จำนวน 6 โครงการ วงเงิน 4.4150 ล้านบาท
5. ก่อสร้างงานชลประทาน จำนวน 41 โครงการ วงเงิน 1,113.0500 ล้านบาท
6. กำจัดวัชพืช จำนวน 25 โครงการ วงเงิน 7.8710 ล้านบาท
7. จัดหาครุภัณฑ์ จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 38.5000 ล้านบาท
8. อื่นๆ เช่น ซ่อมแซมถนน อาคารที่ทำการ ซ่อมบำรุงรักษาครุภัณฑ์ เป็นต้น จำนวน 63 โครงการ วงเงิน 230.9005 ล้านบาท
...
โดยที่ประชุมมอบหมายให้กรมชลประทาน หารือกับสำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับให้นำเสนอรายละเอียดแผนงาน/โครงการ เสนอต่อที่ประชุม ครม. ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567
ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครอบคลุมทุกพื้นที่ ขอให้ยึดตามประกาศเขตภัยพิบัติอุทกภัย-วาตภัยเป็นหลัก และพิจารณาจัดลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือ และความเร่งด่วนการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับความเสียหาย ซึ่งในลำดับแรกขอให้เน้นไปยัง จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหนัก สำหรับภาคใต้ซึ่งขณะนี้กำลังประสบอุทกภัย ศปช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ หากงบประมาณในการขออนุมัติครั้งไม่เพียงพอจะเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจาก ครม. เพื่อนำไปช่วยเหลือต่อไป
ทางด้าน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ศปช. เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัย พื้นที่ภาคใต้ ที่ยังเจอฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วง 27-30 พฤศจิกายน 2567 อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และเกิดน้ำท่วมขังจากการระบายน้ำไม่ทัน ศปช. ได้เฝ้าระวังต่อเนื่องไปจนถึงต้นเดือนหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่ 10 จังหวัด ดังนี้
- จ.ชุมพร (อ.เมือง อ.ท่าแซะ อ.ปะทิว อ.ละแม อ.สวี อ.ทุ่งตะโก อ.หลังสวน และ อ.พะโต๊ะ)
- จ.สุราษฎร์ธานี (อ.เมือง อ.กาญจนดิษฐ์ อ.บ้านนาสาร อ.เวียงสระ อ.บ้านนาเดิม อ.พุนพิน อ.เคียนซา อ.พระแสง อ.ชัยบุรี อ.ดอนสัก อ.เกาะพะงัน และ อ.เกาะสมุย)
- จ.นครศรีธรรมราช (อ.เมือง อ.ปากพนัง อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.พระพรหม อ.ร่อนพิบูลย์ อ.จุฬาภรณ์ อ.ขนอม อ.ทุ่งสง อ.สิชล อ.นบพิตำ อ.พิปูน อ.ฉวาง อ.ท่าศาลา อ.พรหมคีรี อ.ลานสกา อ.เชียรใหญ่ อ.ชะอวด และ อ.หัวไทร)
- จ.ตรัง (อ.เมือง อ.วังวิเศษ อ.ย่านตาขาว อ.ห้วยยอด อ.นาโยง และ อ.ปะเหลียน)
- จ.สตูล (อ.เมือง อ.ทุ่งหว้า อ.มะนัง อ.ควนกาหลง และ อ.ควนโดน)
- จ.พัทลุง (อ.เมือง อ.ศรีบรรพต อ.ศรีนครินทร์ อ.ควนขนุน อ.กงหรา และ อ.ป่าบอน)
- จ.สงขลา (อ.เมือง อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ อ.ควนเนียง อ.บางกล่ำ อ.สิงหนคร อ.หาดใหญ่ อ.นาหม่อม อ.รัตภูมิ อ.ระโนด อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย)
- จ.ปัตตานี (อ.เมือง อ.โคกโพธิ์ อ.แม่ลาน อ.กะพ้อ อ.ทุ่งยางแดง อ.ไม้แก่น อ.ยะรัง อ.สายบุรี อ.ยะหริ่ง อ.ปะนาเระ อ.มายอ และ อ.หนองจิก)
- จ.ยะลา (อ.เมือง อ.กรงปินัง อ.เบตง อ.ธารโต อ.บันนังสตา อ.กาบัง อ.ยะหา และ อ.รามัน)
- จ.นราธิวาส (อ.เมือง อ.ศรีสาคร อ.เจาะไอร้อง อ.แว้ง อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ อ.ระแงะ อ.รือเสาะ อ.จะแนะ อ.สุคิริน อ.สุไหงโก-ลก อ.สุไหงปาดี และ อ.ตากใบ)