“ชูศักดิ์” พลิกตำรายกรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 วรรคท้าย ชี้ร่างพ.ร.บ.ประชามติเป็นกฎหมายการเงินพักไว้แค่ 10 วันไม่ต้องดอง 180 วัน หาช่องย่นย่อทำประชามติ 2 ครั้ง ตั้ง ส.ส.ร.ทำหัวเชื้อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามสัญญา “พริษฐ์” ถกประธานศาลรัฐธรรมนูญ อ้างไม่มีความเห็นจำเป็นต้องทำประชามติ 3 หน จ่อพบประธานสภาฯจี้ทบทวนบรรจุร่างแก้ไข รธน. “อนุทิน” ย้ำจุดยืนลั่นทำไม่ทันต้องรอสภาฯชุดหน้า “โรม” ตื๊อเชิญ “ทักษิณ” แจง กมธ.เคลียร์ปมชั้น 14 ชี้ป่วยจริงจบสังคมจะไว้วางใจรัฐบาล “ทวี” สั่งทีม ยธ.แถลงไม่สบายใจ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯเรียกสอบซ้ำซ้อน ยื่นหนังสือให้ประธานรัฐสภาชี้ขาด “นายกฯอิ๊งค์” ยันไทยมีแผนพร้อมรับมือสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ปรับสมดุลไม่ให้ไทยเสียโอกาส ชู 3 ทางรอดโกยเงินเข้าประเทศ

จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ เห็นชอบให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมติวุฒิสภา ล่าสุดนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ระบุหากย่นย่อการทำประชามติเหลือเพียง 2 ครั้ง อาจร่างรัฐธรรมนูญได้ทันในรัฐบาลนี้

“ชูศักดิ์” ลุ้นทำประชามติ 2 ครั้งอาจทัน

เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 21 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมติคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ เห็นชอบให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมติวุฒิสภาว่า แปลทางรัฐธรรมนูญคือ กฎหมายนี้ต้องถูกยับยั้งไว้ต้องรอ 180 วัน แล้วหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ สื่อต้องถามต่อว่าหากต้องรอ 180 วัน จะทำรัฐธรรมนูญใหม่ทันหรือไม่ ถ้าทำประชามติ 3 ครั้งไม่ทันแน่นอน รัฐบาลเหลือเวลาอยู่ 2 ปีเศษๆ คงไม่ทัน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาว่าหากย่นย่อทำประชามติเหลือ 2 ครั้งอาจจะทัน แต่ความเห็นสภาและพรรคการเมืองยังไม่ลงตัวนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายสภาฯ เห็นว่าต้องทำประชามติครั้งแรก โดยที่ยังไม่มีร่างคือเป็นการทำประชามติ 3 ครั้ง ตนและทีมงานจึงขอพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องก่อนทั้งพรรคการเมืองและฝ่ายสภาฯ

...

งัด ม.137 วรรคท้ายไม่ต้องรอ 180 วัน

นายชูศักดิ์กล่าวว่า ถ้าดูรัฐธรรมนูญละเอียดจะพบว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 137 วรรคท้าย ระบุว่าหากเป็นกฎหมายการเงินระยะเวลา 180 วันให้ลดลงเหลือ 10 วัน กฎหมายประชามติก็เป็นกฎหมายการเงิน ต้องใช้งบฯทำประชามติ จะนำเสนอวิปรัฐบาลว่าไม่จำเป็นต้องรอ 180 วัน จะคุยกับนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล เร็วที่สุด อาจจะทำประชามติทันก็ได้ จากอดีตที่คิดกันหากไม่ทันจริงๆ อย่างน้อยที่สุดให้เลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ให้แล้วเสร็จ จะได้มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือว่าเราทำหน้าที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฝ่ายค้านตั้งใจอยากทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เชื่อว่าจะร่วมมือรัฐบาลเขียนในนโยบาย รัฐบาลว่าจะเร่งรัดจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยเร็วที่สุด

ภท.ย้ำจุดยืนประชามติโหวต 2 ชั้น

วันเดียวกัน ที่ด่านพรมแดนบ้านผักกาดติด ต.คลองใหญ่ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ จะขอหารือหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลถึงร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติและการร่างรัฐธรรมนูญว่า พรรค ภท.แสดงจุดยืนควรทำประชามติ 2 ชั้น เพื่อตัดสินใจเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องกับประเทศ ยังมีประเด็นเกาะกูดและการแก้ไข พ.ร.บ.ต่างๆ จึงต้องระมัดระวังรอบคอบ การแก้รัฐธรรมนูญจะเสร็จภายในรัฐบาลนี้หรือไม่ ทุกอย่างมีเงื่อนเวลา มีขั้นตอน ถ้าแก้ได้ก็แก้ ถ้าแก้ไม่ทันต้องรอสภาชุดหน้า ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้องคดีล้มล้างการปกครองของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยังไม่ได้รับสัญญาณว่าจะมีความซีเรียสอะไรเกิดขึ้นหรือไม่

“ไอติม” อ้างไม่มีการสั่งทำประชามติ 3 ครั้ง

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ประธานคณะ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาฯ เดินทางขอเข้าพบประธานศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาเวลา 15.00 น. นายพริษฐ์ให้สัมภาษณ์ว่า ได้พบกับประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่การประชุมเป็นทางการ ไม่ใช่ความเห็นของทั้งองค์คณะ เราได้มีการทบทวนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ระบุไว้ชัดย่อหน้าสุดท้ายว่า มีการพูดถึงประชามติ 2 ครั้งคือ 1 ครั้งก่อนและ 1 ครั้งหลัง และไม่ได้มีการแสดงความเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ส่วนการทำประชามติทั้งก่อนและหลัง ขั้นตอนเป็นสิ่งที่รัฐสภาต้องตัดสินใจร่วมกัน แต่ข้อเสนอที่พรรคปชน. และพรรค พท.ให้ทำประชามติ 2 ครั้ง ดูแล้วสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จะนำไปหารือกับประธานรัฐสภา หวังว่าประธานรัฐสภาจะทบทวนและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเพิ่มหมวด 15/1 เข้าสู่รัฐสภา

มั่นใจแนวทาง ปชน.ไม่ขัดคำวินิจฉัย

เมื่อถามว่าผลการหารือทำให้มั่นใจขึ้นหรือไม่ว่า หากมีผู้นำเรื่องกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญการวินิจฉัย จะเป็นคุณมากกว่าโทษ นายพริษฐ์กล่าวว่า การหารือไม่มีใครแสดงความคิดเห็น ว่ามีความจำเป็นต้องทำประชามติ 3 ครั้ง คำวินิจฉัยที่ 4/2564 พูดถึงการทำประชามติแค่ 2 ครั้ง แต่ 2 ครั้ง จะเกิดขึ้นตอนไหน เป็นสิทธิบางกลุ่มอาจยื่นได้ จะไปคาดการณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ถึงคำวินิจฉัยที่จะออกมาคงไม่ได้ แต่เชื่อว่าผลที่ออกมาจะยืนยันว่าสิ่งที่เราเสนอนั้น ไม่ได้ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่สภาฯจะเสนอให้ตีความว่ากฎหมายประชามติ เข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงิน เพื่อไม่ต้องรอ 180 วันตามที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯเสนอ นายพริษฐ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดจึงขอไม่ให้ความเห็น ถ้าไม่อยากให้ความล่าช้าของ พ.ร.บ.ประชามติเป็นปัญหา หันมาใช้กลไกหรือโรดแม็ปประชามติ 2 ครั้ง น่าจะเป็นทางออกที่ดี

นายกฯย้ำมุ่งขยายโอกาสลดเหลื่อมล้ำ

เมื่อเวลา 09.10 น. ที่ห้อง Ballroom 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานสัมมนา PRACHACHAT THAILAND 2025 โอกาส ความหวัง ความจริง จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติ มีนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เข้าร่วม เมื่อมาถึงนายกฯเยี่ยมชมบูธหนังสือของสำนักพิมพ์มติชน เลือกซื้อหนังสือไป 8 เล่ม อาทิ หนังสือสมรภูมิพลิกอำนาจโลก หนังสือบ๊อคบ๊อคตะลุยเมืองตัวเลขแสนหรรษา หนังสือท่องเที่ยวญี่ปุ่น จากนั้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ประเทศไทย : โอกาส-ความหวัง-ความจริง” มีเนื้อหาสรุปว่า รัฐบาลพยายามสร้างโอกาสที่จับต้องได้ให้กับคนไทย เรามองเห็นศักยภาพของคนไทยที่มีอยู่สูง แต่บางทีเข้าไม่ถึงโอกาส รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนไทยกินอยู่สบาย เพราะถ้าปากท้องอิ่ม ศักยภาพในตัวจะออกมา ยืนยันเราจะขยายโอกาสให้มากที่สุด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ปรับดุลการค้าไม่ให้ไทยเสียโอกาส

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า จากการเดินทางไปประชุมประเทศต่างๆ ต่างชาติสนใจลงทุนในเมืองไทย ถ้าการเมืองเรามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น นักธุรกิจและต่างชาติจะมั่นใจในการลงทุน ตนมีหน้าที่ไปบอกทุกคนถึงความเชื่อมั่นตรงนี้ว่าเราจะสามารถอยู่จนครบเทอมจนมีการเลือกตั้งได้ จะเดินหน้านโยบายที่ประกาศไว้ไม่ให้สะดุด การเลือกตั้งสหรัฐฯที่ผ่านมาได้ประธานาธิบดีคนใหม่ หลายฝ่ายมองว่ามาตรการทางเศรษฐกิจจะพุ่งเป้าไปยังประเทศที่เขาขาดดุล ไทยเป็นหนึ่งในนั้น เราจะเตรียมมาตรการรองรับ จะปรับสมดุลไม่ให้เสียโอกาสของประเทศ ส่วนจีนที่มองว่าเราอาจสู้การผลิตของเขาไม่ได้ จะใช้มาตรการด้านภาษีและกฎหมายที่มีอยู่ช่วยการค้าขายออนไลน์ เอสเอ็มอี ภาพรวมประเทศจีนพื้นที่การเกษตรไม่เพียงพอความต้องการในประเทศ ต้องพึ่งสินค้าเกษตรจากประเทศอื่น ไทยมีจุดแข็งตรงนี้ ต้องมาช่วยทำให้เกษตรกรไทยแข็งแรงมากขึ้น นำ
เทคโนโลยีถนอมอาหารเข้ามาเสริมตรงนี้

ชู 3 ทางรอดดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เราต้องหาเม็ดเงินใหม่ๆ จากต่างประเทศเข้ามา มี 3 ทางรอด คือ 1.โอกาสอาหารของไทยที่แข็งแรง ทุกคนมองไทยเป็นครัวโลก จะนำเทคโนโลยีถนอมอาหารมาส่งเสริม ให้ส่งออกไปและคุณภาพยังเหมือนเดิม 2.โอกาสอุตสาหกรรมสุขภาพ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่พัฒนาเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ทั่วโลกยอมรับอยากทำตาม ไทยมีชื่อเสียงหลายคนอยากเข้ามารักษา ต้องร่วมกันพัฒนาให้ไทยเป็นฮับด้านสุขภาพ และ 3.ซอฟต์พาวเวอร์ เรามีวัฒนธรรมที่ต่างชาติสนใจ พยายามผูกทุกเทศกาลไว้ด้วยกันให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้ทั้งปี อีกอย่างต่างชาติสนใจใช้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ปีที่ผ่านมามีเม็ดเงินเข้าประเทศถึง 190 ล้านดอลลาร์ฯ เราสนับสนุนตรงนี้เพื่อดึงเม็ดเงินเข้ามา และต่างชาติชื่นชอบหนังไทย เช่น เรื่องหลานม่า รวมถึงมวยไทยเป็นที่ชื่นชมในต่างประเทศ อังกฤษมีค่ายมวยกว่า 40,000 ค่าย จะผลักดันตรงนี้เพื่อสร้างรายได้ให้คนไทย รัฐบาลพยายามจะสร้างฮีโร่ในทุกอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เพื่อไปคุยกับใครทั่วโลกจะภูมิใจว่าประเทศไทยมีคนเก่ง

ชวนรอฟังผลงานรัฐบาล 12 ธ.ค.

นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องพลังงานในอ่าวไทยประเมินว่าก๊าซจะใช้ได้อีก 10 ปีจะหมดไป ที่เป็นกระแสกันอยู่ MOU44 ที่จะคุยกับกัมพูชา ต้องคุยกันว่าจะแบ่งใช้ก๊าซธรรมชาติร่วมกันอย่างไร ทำให้ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพูดคุย เกาะกูดไม่เกี่ยว ไม่ใช่ เกาะกูดเป็นของเราอยู่แล้ว ขอฝากว่ารัฐบาลจะมีการแถลงสิ่งที่ได้ทำมาในรัฐบาลนี้ประมาณ 90 วัน ในวันที่ 12 ธ.ค. จะมีนโยบายดีๆมาเล่าให้ฟังว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตอีก และของขวัญปีใหม่รัฐบาลจะมอบอย่างไรให้ประชาชนบ้าง ขอให้ติดตาม

โชว์วิชั่น Forbes หนุนลงทุนเต็มที่

ต่อมาเวลา 13.00 น. ที่โรงแรม The Ritz Carlton One Bangkok ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ น.ส.แพทองธาร ร่วมกิจกรรมการสนทนาแบบ one-on-one ในกิจกรรมของ Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 22 โดย น.ส.แพทองธาร ตอบคำถามมอร์รา ฟอร์บส์ รองบรรณาธิการผู้จัดการฟอร์บส์ มีเดียเป็นภาษาอังกฤษมีล่ามแปลเป็นไทยว่า ตั้งแต่เป็นนายกฯได้พูดคุยสร้างความเชื่อมั่นให้คนเข้าใจว่าเราอยู่ที่ไหน การลงทุนสำหรับประเทศไทยตอนนี้สำคัญมาก หลายทศวรรษแล้วที่ไม่ได้เติบโตอย่างที่คาดไว้ จำเป็นต้องมีแหล่งรายได้และแหล่งลงทุนใหม่ๆ จึงต้องทำหลายอย่างพร้อมกัน การเชิญนักลงทุนเข้ามาประเทศไทย เหมือนที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ วางแผนไว้ยืนยันนโยบายคงเดิม ในฐานะรัฐบาลอยากดำเนินนโยบายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จากการพูดคุยกับ CEO หลายท่าน บอกว่ารัฐบาลสนับสนุนเต็มที่สำหรับการลงทุน ตอนนี้มีอีกหลายดีล บางดีลยังเปิดเผยไม่ได้ บางดีลลงทุนในประเทศไทยไปแล้วและอยากจะลงทุนเพิ่ม เช่น Google กับ Microsoft คนยังมองไม่เห็นเมืองไทยแต่เรามีของดี เช่น งานฝีมือที่มีคุณภาพ แต่ราคาไม่สูง อยากพัฒนาให้แรงงานไทยมีค่าแรงสูงขึ้น เวลาไปต่างประเทศพยายามใส่ผ้าไทย เลือกผ้าไทยผสมกับแบรนด์ไฮเอนด์ เพื่อนำเสนอเมืองไทยในแบบที่รู้สึกภูมิใจ

ต่างชาติถามคำแรก “พ่อเป็นอย่างไร”

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ประเทศไทยดีขึ้นแล้ว หากการเมืองมีเสถียรภาพ ทุกอย่างจะมีเสถียรภาพมากขึ้น จะเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ต้องสร้างความมั่นใจทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทำให้คนไทยเชื่อมั่นว่ารัฐบาลสนับสนุนการทำธุรกิจใหม่จริงๆ โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ที่ดำเนินการเฟส 1 ไปแล้ว และเฟสที่ 2 จะให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะคนกลุ่มนี้ได้เงินไปแล้วจะใช้ทันทีเพื่อให้เงินสะพัด ส่วนคำถามว่าทำไมต้องมาลงทุนในไทย เราเป็นศูนย์กลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลิตอาหารได้ดี จะผลักดันการส่งออกอาหาร และหลายคนตอบรับ เป็นจังหวะดีที่จะมาลงทุนในไทย ผู้ดำเนินรายการถามว่าเวลาไปต่างประเทศเวทีต่างๆ คำถามแรกที่ถูกถามคืออะไร น.ส.แพทองธารกล่าวว่า คำถามแรกที่เจอบ่อยคือ พ่อเป็นอย่างไรบ้าง พยายามตอบในมุมธุรกิจ แต่คำถามที่ 2 ตามมาคือคุณอาเป็นอย่างไรบ้าง เป็นแบบนี้ตลอด สำหรับบทบาทไทยต่อสหรัฐฯ ตอนคุยกับตัวแทนสหรัฐฯ จีนและประเทศอื่น ได้นำเสนอในฐานะทูตสันติภาพและความมั่งคั่ง หลักการประเทศไทยคือความสงบ สันติและความมั่งคั่ง

หวังนโยบายต่อเนื่องไม่หายตาม รบ.

เมื่อถูกถามว่ามองประเทศไทย 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร น.ส.แพทองธารกล่าวว่า การศึกษา อยากให้ทุกคนปรับตัวและเรียนรู้ภาษาที่สอง ไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาอังกฤษ เราจะเป็นประเทศที่พร้อมไปด้วยธุรกิจสำหรับอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นโยบายนี้อีก 5 ปีจะได้มองเห็นสิ่งเหล่านี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในอนาคตพวกเรามั่นใจได้เลยว่าการเมืองมั่นคงแน่นอน มีเสถียรภาพแน่นอน ทุกคนอยากเห็นประเทศก้าวหน้าในระยะยาว คิดว่าในอีก 5 ปีผู้คนจะหนีจากประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางได้ รัฐบาลวางแผนไว้ 10 ปีจะสร้างรากฐานให้ประชาชน ไม่ว่ารัฐบาลเปลี่ยน หรือนายกฯ เปลี่ยน อยากให้นโยบายพื้นฐานยังอยู่กับประชาชน เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค 20 ปีที่แล้วปัจจุบันยังมีอยู่ อยากสร้างรากฐานเข้าไป นโยบายที่สร้างขึ้นวันนี้ พยายามจะให้อยู่ยาวตลอดไป มั่นใจว่าจะเห็นได้แน่นอน

“โรม” ชักแม่น้ำตื๊อ “ทักษิณ” มาแจง กมธ.

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.)ในฐานะประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการเชิญนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจงวันที่ 22 พ.ย.ว่า กรณีนายทักษิณเป็นโอกาสลบข้อครหาที่สังคมสงสัยว่าป่วยจริงหรือไม่ ไม่จำเป็นที่ต้องกังวลเลยว่า กมธ.จะเล่นการเมือง หรือกลั่นแกล้ง ถ้านายทักษิณบริสุทธิ์ใจคือป่วยจริงๆจะจบ ประชาชนจะมองและไว้วางใจรัฐบาลมากขึ้น พอทำให้เป็นเรื่องพิศวง เป็นเรื่องต้องห้าม ประชาชนจะมองว่ารัฐบาลพยายามปกปิดอะไร ส่วนที่นายทักษิณระบุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯจะกลับบ้านสงกรานต์ปีหน้า เราอยู่บนพื้นฐานทางการเมืองที่ไม่แน่นอน ต้องรอดสุดท้ายจะมีกลไกทางกฎหมายอย่างไร การใช้วิธีพิสดารที่จะทำให้กลับประเทศได้ คงเป็นวิธีการที่ไม่สามารถยอมรับได้

โต้ทำหน้าที่ตาม รธน.-ข้อบังคับสภา

ต่อมาเวลา 13.00 น. นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคประชาชน โฆษกคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ แถลงว่าที่ประชุมหารือข้อตกลงตามกรอบ MOU 44 ระหว่างไทย-กัมพูชา เชิญมาชี้แจง ส่วนกรณีกระทรวงยุติธรรม ระบุ กมธ.ความมั่นคงฯ ไม่มีอำนาจตรวจสอบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กรณีพักรักษาตัวชั้น 14 และส่งเรื่องให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯชี้ขาด กมธ.ต้องการศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ถ้าจะปฏิรูปแต่ไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงได้จะปฏิรูปได้อย่างไร ที่ระบุว่าเราทำหน้าที่ขัด รัฐธรรมนูญตามมาตรา 129 วรรค 2 ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับ กมธ.อื่น มีอำนาจใดมาวินิจฉัย ทั้งที่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มีข้อบังคับการประชุมสภาฯรองรับ รมว.ยุติธรรมน่าจะมาชี้แจงเองจะดีกว่า ยืนยันจะไม่นำมาเล่นงานหรือหาเสียงทางการเมือง ชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ต้นน้ำคือตำรวจแล้ว เรากำลังไปกระบวนการศาล กระบวนการราชทัณฑ์ต่อไป

ทีม ยธ.ไม่สบายใจ กมธ.สอบซ้ำซ้อน

อีกด้านหนึ่ง ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรมพร้อมผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ แถลงกรณีคณะ กมธ.ความมั่นคงฯ มีหนังสือให้ รมว.ยุติธรรม ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ เข้าชี้แจงการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ รพ.ตำรวจ โดยนายสมบูรณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาฯตรวจสอบมาที่กระทรวงยุติธรรม 2 ชุดตั้งแต่ 21 ธ.ค.66 คณะ กมธ.ตำรวจมีหนังสือแจ้งมาให้กรมราชทัณฑ์ชี้แจงข้อเท็จจริง นายสิทธิ สุธีวงษ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ไปชี้แจง ครั้งที่ 2 นัดหมายไปดูสถานที่จริงที่ รพ.ตำรวจ แต่หนังสือ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯลงวันที่ 14 พ.ย.ได้รับเมื่อวันที่ 15 พ.ย. ให้เข้าชี้แจงวันที่ 22 พ.ย. ยังตอบไม่ได้ว่า รมว.ยุติธรรมและผู้บริหารจะไปหรือไม่ กระทรวง ยธ.รู้สึกไม่สบายใจข้อกฎหมาย อาจไม่อยู่ในอำนาจกรอบหน้าที่ของคณะ กมธ.ความมั่นคงฯเป็นการกระทำซ้ำซ้อนหน้าที่ของคณะ กมธ.ตำรวจ ตามระเบียบสภาฯหากเรื่องที่พิจารณาซ้ำซ้อนกัน ต้องรวมเป็นชุดเดียวกัน กระทรวง ยธ.ทำหนังสือข้อกังวลและความไม่สบายใจไปยังประธานสภาฯลงวันที่ 19 พ.ย.แล้ว

รอฟังประธานรัฐสภาชี้ขาด

นายสมบูรณ์กล่าวว่า วันที่ 22 พ.ย.จะไปชี้แจงต่อเมื่อประธานรัฐสภา เป็นผู้มีอำนาจตัดสินมีคำสั่งมาให้กระทรวงยุติธรรมเข้าไปชี้แจง ทุกคนต้องไป แต่ขณะนี้ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจาก รมว.ยุติธรรมให้มาแถลงข่าวความไม่สบายใจในการเชิญของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ยืนยันกระทรวงยุติธรรมไม่เคยหลบเลี่ยง ที่ผ่านมาไม่เคยจะไม่ตอบข้อเท็จจริง หาก กมธ.ชุดนั้นมีอำนาจตามกฎหมายหน้าที่ เมื่อถามว่า รมว.ยุติธรรม กังวลใจข้อกฎหมาย ทำไมถึงไม่มาชี้แจงเอง นายสมบูรณ์กล่าวว่า รัฐมนตรีติดภารกิจ ส่วนกระแสข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีแผนเดินทางกลับประเทศไทย กังวลจะซ้ำรอยกรณีนายทักษิณ ชินวัตรหรือไม่ นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ไม่ขอตอบ ได้รับมอบหมายให้มาแถลงเพียงข้อกังวลจาก รมว.ยุติธรรมเท่านั้น

ทสท.ติงอย่าเร่งเจรจาขุมทรัพย์อ่าวไทย

วันเดียวกัน พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ออกแถลงการณ์ในนามพรรคกรณีนายกฯแถลงนโยบายว่ามีนโยบายเร่งด่วนที่ 3 จะเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิ์กับกัมพูชาเพื่อหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมทั้งรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ระบุพร้อมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถกผลประโยชน์ทางทะเล หาก ครม.เห็นชอบให้เป็นประธาน JTC ว่า พรรคกังวลเรื่องอธิปไตยและทรัพยากรทางทะเลในอ่าวไทย ยังไม่ควรเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ จนกว่าจะพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าทุกอย่างเป็นไปโดยสุจริตใจ ถูกต้องและเป็นธรรมตามหลักกฎหมายสากล เพื่อประโยชน์ของประชาชนจริง ไม่ใช่การตอบสนองผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและกลุ่มทุนนิยมพรรคพวก ให้ยึดพระบรมราชโองการที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 พ.ค.16 ที่กำหนดเส้นเขตแดนทางทะเลของไทยกับกัมพูชา โดยยึดกฎหมายระหว่างประเทศ หากรัฐบาลจริงใจแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน ต้องเร่งปรับโครงสร้างค่าพลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซและไฟฟ้าให้ถูกลงตามที่หาเสียงสัญญาไว้ก่อน ไม่ต้องรีบเร่งเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน

“ทักษิณ” ไม่ตื่นเต้นลุ้นฟังคำตัดสิน

เมื่อเวลา 20.17 น. ที่โรงแรม The Ritz Carlton, One Bangkok ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กทม. นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯเข้าร่วมกิจกรรมการสนทนาแบบ one-on-one ในกิจกรรมของ Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 22 โดยนายทักษิณพูดคุยตอบคำถามนายสตีฟ ฟอร์บส์ ประธานและบรรณาธิการบริหารของ Forbes Media หลายประเด็น นายทักษิณกล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายอิสระที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณและพรรคเพื่อไทยยุติการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองว่า ผ่านมาหลายสิ่งอย่างเห็นทั้งนรกและสวรรค์มาแล้ว ไม่มีอะไรทำให้ตื่นเต้นแล้ว ไม่เป็นอะไร ก็แค่รอฟังคำตัดสิน และก้าวต่อไปข้างหน้า มองไปข้างหน้า เราไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่ว่าไม่ใช่ Moving Forward (ก้าวไปข้างหน้า) เวลาไปวัดอยากจะมีความสงบทางจิตใจ ไปไหว้พระ กลับมาก็นอน แต่ระหว่างทางที่จะไปอาจจะมีหมาเห่า แต่คุณไม่จำเป็นต้องรู้ว่าทำไมหมาถึงเห่า ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องหมา

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่