กมธ.ร่วมพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติลงมติ 13 ต่อ 9 เสียง ภท.งดออกเสียง ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก สองชั้น “กฤช” แจงส่งกลับสองสภาพิจารณา คาด สส.ไม่เห็นชอบยับยั้งแน่ต้องพักไว้ 180 วัน “วุฒิชาติ” อ้างแก้รัฐธรรมนูญเรื่องสำคัญ ต้องให้ประชาชนมาใช้สิทธิให้มากที่สุด “นิกร” โอดการเมืองแรงเหลือเกิน ไม่มีใครยอมถอย ทำใจแม้แต่ตั้ง ส.ส.ร.จะไม่ทันในสมัยรัฐบาลนี้ “ชูศักดิ์” ยันรู้แต่ต้นคำร้อง “ทักษิณ-พท.” ล้มล้างการปกครองฯไปไม่ถึง รอคดีถูกตีตกค่อยเคาะฟ้องกลับ “ธีรยุทธ” “มาริษ” ยังไม่ได้รับการประสาน “ยิ่งลักษณ์” จ่อกลับไทย “นายกฯอิ๊งค์” นัด 12 ธ.ค. แถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 100 วัน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญชัดเจนแล้วว่าจะไม่สามารถทำได้ทันในสมัยรัฐบาลนี้ หลังจากคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ มีมติเสียงข้างมาก 13 ต่อ 9 ยืนยันให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นในการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญตามที่ สว.แก้ไขมา ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวล่าช้าไปอีก 180 วัน บวกกับขั้นตอนออกเป็นกฎหมายอีก 1 เดือนรวมเป็น 7 เดือน

“นิกร” ปลงตั้ง ส.ส.ร.ไม่ทันรัฐบาลนี้

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 พ.ย.ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ มี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว.ในฐานะประธาน กมธ.ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีการเชิญตัวแทนบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาให้ข้อมูลความพร้อมการจัดทำประชามติผ่านทางไปรษณีย์ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายนิกร จำนง กมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติกล่าวว่า ขณะนี้เกิดความเห็นต่างกันอย่างมากระหว่าง กมธ.ฝั่ง สส.และ สว. เรื่องเกณฑ์การออกเสียงประชามติ ต่างฝ่ายต่างยืนยันมติฝ่ายตัวเอง แม้ตนจะเสนอแนวทางเสียงข้างมากชั้นครึ่งให้ 2 ฝ่ายพบกันครึ่งทาง แต่คงไม่มีใครถอย ตอนนี้การเมืองแรงเหลือเกิน หากสุดท้ายสภาผู้แทนราษฎรยืนยันร่างเดิมของตัวเอง จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ล่าช้าออกไปอีก 180 วัน บวกกับขั้นตอนออกเป็นกฎหมายอีก 1 เดือน รวมเป็น 7 เดือน ทำให้ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ทันในสมัยรัฐบาลนี้ แม้กฎหมายนี้จะผ่านออกมาได้ภายในปี 2568 แต่เชื่อว่าวุฒิสภาจะไม่ให้เสียงเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เหมือนกับแตกหักกันแล้ว ทำให้ต้องรอสภาสมัยหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 อีกครั้ง แม้แต่ขั้นตอนตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) สุ่มเสี่ยง ว่าจะเกิดขึ้นไม่ทันในสมัยนี้

...

กมธ.ลงมติใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น

ต่อมาเวลา 16.00 น. นายกฤช เกื้อวงศ์ สว. ในฐานะโฆษก กมธ. แถลงผลการประชุม กมธ.ว่า ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 13 ต่อ 9 งดออกเสียง 3 จากผู้เข้าประชุมทั้งหมด 25 คน ให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญตามที่ สว.แก้ไขมาคือ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีคะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง หลังจากนี้จะนำร่างกฎหมายกลับเข้าสู่แต่ละสภา เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบตามมติ กมธ.ร่วมหรือไม่ หากสภาใดไม่เห็นชอบ ลงมติยับยั้งร่างกฎหมายได้ และเสนอกลับเข้ามาใหม่ได้ ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องถูกพักไว้ 180 วัน เชื่อว่าสภาฯคงไม่เห็นด้วยกับการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น จะยับยั้งแน่ คาดว่าร่างกฎหมายนี้จะถูกพักไว้ 180 วัน ทั้งนี้ กมธ.จะประชุมครั้งสุดท้ายวันที่ 4 ธ.ค. เพื่อรับรองรายงานการประชุม จากนั้นวันที่ 6 ธ.ค.จะส่งร่างกฎหมายกลับไปให้แต่ละสภา คาดว่าวันที่ 16 ธ.ค.จะนำเข้า สู่วาระการประชุมวุฒิสภาและวันที่ 18 ธ.ค.จะเข้าสู่วาระการประชุมสภาฯ

อ้างรื้อ รธน.สำคัญต้องใช้เสียงมากสุด

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว.กล่าวว่า เหตุผลที่ กมธ.สว.คงไว้ซึ่งเสียงข้างมาก 2 ชั้น เพราะเห็น ว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นต้องมีประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ จึงอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมการออกเสียงประชามติ เพื่อประโยชน์จะตกเป็นของประชาชนโดยตรง

ปณ.พร้อมประชามติผ่านไปรษณีย์

นายพิศิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. กล่าวว่า การ เชิญตัวแทน กกต.และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มาชี้แจงต่อ กมธ.ถึงความพร้อมการทำประชามติผ่านทางไปรษณีย์ ตัวแทนไปรษณีย์ยืนยันมีความพร้อมทำได้ จะให้ประชาชนมายืนยันตัวตนที่ไปรษณีย์ในเขตนั้นๆ จากนั้นลงมติที่ไปรษณีย์ ดูแล้วป้องกันการลงคะแนนแทนกันได้ เพราะต้องใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตนก่อน ค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ไม่ได้ถูกแต่ช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนไม่ต้องกลับไปลงคะแนนที่ภูมิลำเนา ขณะที่ตัวแทน กกต.ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะทำประชามติ ผ่านทางไปรษณีย์หรือไม่ แค่บอกว่าจะรับไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้งว่าจะดำเนินการหรือไม่

ภท.พลิ้วเลือกทางงดออกเสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับเสียงข้างมาก 13 เสียง ที่ลงมติให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการทำประชามติ เป็น กมธ.ฝั่ง สว.ทั้งหมด ส่วนเสียงข้างน้อย 9 เสียงเป็น กมธ.ฝั่ง สส. ขณะที่เสียงงดออกเสียง 3 คะแนน เป็นของประธาน กมธ.ในที่ประชุมและ สส.ภูมิใจไทย 2 คน คือนายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง

“ชูศักดิ์” รู้แต่ต้นคำร้องไปไม่ได้

เมื่อเวลา 14.05 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพรรค พท. ยุติการกระทำที่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองในวันที่ 22 พ.ย.ว่า ทราบจากข่าวว่าอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าไม่เข้าเกณฑ์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้หรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล ไม่ก้าวล่วงแต่เราสู้ไปว่าไม่เข้าเกณฑ์ล้มล้างการปกครอง คนไปคุยกันไปดูรายละเอียดกัน แสดงความเห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้จะล้มล้างการปกครองไปได้อย่างไร พวกเราทราบดีว่าการล้มล้างการปกครอง ต้องเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่นี่ตรงกันข้าม เช่น คุยกันว่าจะตั้งรัฐบาล จะไปล้มล้างการปกครองตรงไหน เมื่อถามว่า การที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแบบนี้ ทำให้พรรค พท.ใจชื้นหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า จริงๆรู้อยู่แล้วว่าข้อกฎหมายมันไปไม่ได้ รู้ตั้งแต่ต้นแล้วหลังจากเห็นคำร้อง

ลุ้นถ้าถูกตีตกจ่อฟ้องกลับ “ธีรยุทธ”

เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง จะฟ้องกลับนายธีรยุทธหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า อันนั้นต้องว่ากันอีกที ดูว่าศาลไม่รับคำร้องเพราะอะไร เมื่อถามย้ำว่ามีโอกาสฟ้องกลับหรือไม่ เพื่อเป็นการปราบ ไม่ให้ฟ้องร้องอะไรที่ไม่มีมูลอีก นายชูศักดิ์ตอบว่า ส่วนตัวไม่อยากมีอะไรที่เรียกว่านิติสงคราม ฟ้องกันไปฟ้องกันมา ใจจริงอยากให้ประเทศเดินหน้า ไม่อยากเอาเรื่องไม่มีสาระมาอะไร แต่หลายคนในพรรคคิดอยู่เหมือนกันว่าเราจะหยุดขบวนการนี้อย่างไร ก็ว่ากันไป ส่วนการร้องการถือสองสัญชาติทั้งไทยและมอนเตเนโกรของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำให้เป็นผู้ช่วยหาเสียงนายก อบจ.ไม่ได้ ตนไม่ทราบ แต่ที่รู้แน่ๆนายทักษิณมีสัญชาติไทยแน่นอน โดยหลักสืบสายโลหิตบิดามารดา โดยหลักดินแดน ฉะนั้นเป็นคนไทย มีสัญชาติไทยแน่นอน ส่วนจะมีสัญชาติอื่นอย่างไรไม่ทราบรายละเอียด แต่ไม่ได้มีข้อห้ามอะไร ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในหลายประเทศที่ไม่มีข้อห้ามเรื่องพวกนี้ ชัดเจนที่สุดว่าเป็นคนไทย ถือสัญชาติไทย เกิดในประเทศไทย บิดามารดาเป็นคนไทย แล้วจะเอาสัญชาติอะไรอีก และตามข้อกฎหมายไม่มีปัญหา ลองไปเปิดดูกฎหมายไทย มีข้อห้ามอะไรหรือไม่

ก.ม.นิรโทษกรรมไม่เสร็จง่ายๆ

เมื่อถามถึงกรณีนายทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศระบุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯจะกลับประเทศไทยช่วงสงกรานต์ปีหน้า นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบจริงๆ เพราะไม่ได้คุยอะไรกัน เป็นกระบวนการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์คงไม่มาบอกเราหรือใคร แต่รับรู้รับทราบจะจริงหรือไม่ ไม่รู้รายละเอียดเลย เมื่อถามว่าแนวโน้มร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะเสร็จก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางกลับมาหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ได้เมื่อไหร่ จริงๆเปิดสมัยประชุมมา กฎหมายนี้อยู่ในวาระที่จะถึง แต่ความเห็นตนคิดว่ากฎหมายเหล่านี้คงไม่ได้เสร็จง่ายๆ เท่าที่เห็นและศึกษามายังเถียงกันมากมายก่ายกอง กว่าจะลงเอยคงไม่เสร็จง่ายๆ จึงตอบไม่ได้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะก่อนหรือหลัง และตอบไม่ได้ว่าท้ายสุดจะทำอย่างไร จะมีกระบวนการอย่างไร ถ้าสื่อจะถามว่ายากหรือง่าย ตอบไม่ได้จริงๆ ต้องรู้เสียก่อนว่ากระบวนการทำอย่างไร

“มาริษ” ยันยังไม่มีการประสานมา

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทย (เจทีซี) เจรจาพื้นที่อ้างสิทธิ์ระหว่างไทยและกัมพูชาว่ากำลังรอการพิจารณาที่อาจเพิ่มระดับบุคคล ยังไม่เรียบร้อย จะดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุด ส่วนกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระบุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางกลับประเทศไทยช่วงสงกรานต์ปีหน้า ไม่มีการประสานมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ไม่ได้ปรารภถึงเรื่องนี้ เมื่อถามถึงการร้องเรียนนายทักษิณเป็นผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แต่ถือสองสัญชาติอาจผิดกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น นายมาริษกล่าวว่า ไม่ทราบ

12 ธ.ค.รัฐบาลแถลงผลงาน 100 วัน

เมื่อเวลา 14.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 100 วันจะเป็นช่วงใด ว่าประมาณเดือน ธ.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ได้วางกำหนดการแถลงผลงานของรัฐบาลรอบ 100 วัน ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการวางรูปแบบการแถลงอยู่

“สุริยะ” จัดให้ขึ้นทางด่วนฟรีปีใหม่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดแพ็กเกจของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน นอกเหนือจากเรื่องการเพิ่มเที่ยวบินว่าคงจะมีการประสานเรื่องค่าทางด่วนบางเส้นเพื่อให้ประชาชนใช้ได้ฟรี โดยขณะนี้รอรายละเอียดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแพ็กเกจที่เกี่ยวข้องกับรถบัสโดยสารสาธารณะ ยืนยันว่ารัฐบาลต้องการลดภาระให้ประชาชน เมื่อถามว่าจะมีมาตรการยกเว้นภาษีน้ำมันเครื่องบินด้วยหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า จากการดูข้อมูลแล้วไม่สามารถลดได้

ทสท.จี้ประเมินผลก่อนอัดเงินหมื่นเฟส 2

นายวรวุฒิ โตวิรัตน์ รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวถึงกรณีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง ระบุที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นชอบมาตรการแจกเงิน 10,000 บาทเฟส 2 ใช้งบฯ อีก 40,000 ล้านบาท คาดว่าเริ่มเติมเงินก่อนเทศกาลตรุษจีนปี 2568 ว่า รัฐบาลควรเก็บข้อมูลการแจกเงิน 10,000 บาท ให้ประชาชน 14.5 ล้านคนกว่า 145,000 ล้านบาทในเฟสแรกก่อนว่ากระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่อย่างไร การแจกเงินไม่ได้เป็นรูปแบบดิจิทัลวอลเล็ต ที่ประกาศจะสร้างนวัตกรรมทางการเงินของโลกอนาคต ต่างจากนโยบายที่หาเสียงไว้ ถูกเลื่อนมาตลอด ไร้ความชัดเจน สุดท้ายอาจเป็นการแจกเงินแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ดักคอเฟส 3 ตกเขียวก่อน ลต.ปี 70

“เชื่อว่าการแจกเงินกลุ่มใหญ่ที่เหลือเฟสสาม อาจเกิดขึ้นปี 2569 ก่อนการเลือกตั้งปี 2570 สะท้อนเจตนาเพื่อหวังผลทางการเมืองและคะแนนเสียง มากกว่าเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับมา ทั้งนี้ โครงการเติมเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ให้กลุ่มเปราะบางในเฟสแรก ส่งผลดีต่อการบรรเทาความเดือดร้อน หากจะทำต่อในเฟสต่อๆไป ควรต้องมีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและออกแถลงการณ์ให้ชัดเจนก่อน หากรัฐบาลยังฝืนเดินหน้าทำต่อเพื่อหวังคะแนนเสียงล่วงหน้าในปี 2570 แต่โครงการนี้ไม่สำเร็จ ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลพูดไว้ ก็ขอให้รัฐบาลเตรียมวิธีการแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดหวังของประชาชน และความเสียหายทางการคลังของประเทศในระยะยาวไว้ด้วย

มท.1 แนะนักปกครองต้องมีเมตตา

วันเดียวกัน ห้องประชุมอัษฎางค์ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน พิธีปิดและมอบประกาศนียบัตร เข็มวิทยฐานะ โล่ผู้ที่มี ผลการศึกษาดีเด่น และโล่ผู้มีมนุษยสัมพันธ์ดีเด่นแก่ ผู้ผ่านการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 86 ประจำปี 67 จำนวน 100 คน โดย นายอนุทินกล่าวว่า นักปกครองมีความหมายที่กว้างกว่าการบริหาร มีความเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ ผู้ปกครองต้องมีทักษะที่จำเป็นต่อการบริหาร และต้องไม่ขาดคุณธรรม จริยธรรม ความเมตตาในการ ใช้อำนาจด้วย ให้ตระหนักอยู่เสมอว่าใช้อำนาจต้องเป็นไปเพื่อบริการมีความเป็นผู้รับใช้ ไม่ใช่เป็น ผู้มีอำนาจบาตรใหญ่เหนือประชาชน หรือใช้อำนาจที่มีนั้นข่มขี่ลูกน้อง

ทร.จัดเสวนาเคลียร์ปมเอ็มโอยู 44

เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผบ.ทร. เป็นประธานพิธีวันสถาปนากองทัพเรือ ครบรอบ 118 ปี จากนั้น พล.ร.อ.จิรพลกล่าวถึงกรณีอดีต ผบ.ทร. ฝากเรื่อง MOU 44 กับกระแสสังคมว่า เคารพความคิดทุกท่าน ล้วนเป็น ห่วงกองทัพเรือ กองทัพเรือมีหน้าที่ดูแลพื้นที่ ปัจจุบันดูแลเส้นเขตแดนทางทะเลที่ประเทศไทยประกาศได้อย่างเรียบร้อย ไม่มีความขัดแย้งเส้นเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่เมื่อ มีกระแสสังคมถึง MOU 44 ทร.ในฐานะหน่วยงาน ทางเทคนิคมีผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดนทางทะเล คือกรมยุทธศึกษาทหารเรือ เตรียมจัดงานเสวนาเรื่อง เส้นเขตแดนในทะเลและข้อตกลง-ข้อขัดแย้งต่างๆ วันที่ 3 ธ.ค. เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้ารับฟังได้

ส่งซิก รบ.เรือฟริเกตของมันต้องมี

พล.ร.อ.จิรพลกล่าวอีกว่า ในวาระ ทร.ครบรอบ 118 ปี ดำเนินการให้เป็นไปตามที่ให้นโยบาย 5 ด้าน เพื่อให้ภารกิจสำเร็จได้โดยมีความปลอดภัยของกำลังพลและเครื่องมือ รวมถึงยานรบ โดยให้ปีหน้า เป็นปี Safety Navy 2025 เน้นการทบทวนองค์ ความรู้ของแต่ละหน้าที่ และการเดินหน้าโครงการจัดหาเรือฟริเกต 2 ลำ ในงบฯปี 2569 เป็นความจำเป็น ที่เราต้องจัดหา แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับงบฯที่จะได้รับ ด้วย

ราคาค่อนข้างสูงจึงจะทยอยจัดซื้อ คาดว่าระยะที่ 1

จะจัดหาครั้งละ 2 หรือ 3 ลำ พักไปอีกระยะหนึ่งค่อยจัดหาเพิ่มเติมใหม่อีก 2-3 ลำ ขึ้นอยู่กับงบฯปี 69 รวมถึงต้องดูว่าจะมีเรือดำน้ำอยู่ด้วยหรือไม่ ตอนนี้แกว่งกันอยู่นิดนึงว่าเรือดำน้ำจะเดินหรือไม่เดิน แต่เรือฟริเกตต้องบอกกับรัฐบาลว่าเรามีความจำเป็นต้องจัดหา เมื่อถามว่า ถ้า ครม.ยังไม่อนุมัติแก้ไขสัญญา เรื่องเครื่องยนต์ จะตั้งงบเรือดำน้ำได้ทันในปีนี้หรือไม่ ผบ.ทร.กล่าวว่า เตรียมไว้ 2 แผน คือแผนที่ 1 มีเรือ ฟริเกต 2 ลำ เป็นตัวยืนพื้นของงบฯปี 69 เรือดำน้ำ จะได้หรือไม่ได้อยู่ที่ ครม. แผนที่ 2 กรณีไม่ได้จะเสนอ เรือฟริเกต 3 ลำ ถ้าได้เรือดำน้ำจะหยุดเรือฟริเกตไว้แค่ 2 ลำ ความต้องการของ ทร.ต้องการอย่างน้อย 2 ลำ ถ้าได้ 3 ลำ จะดี แต่อยู่ที่รัฐบาลจะเห็นใจแค่ไหน มีกรอบงบฯเพียงพอหรือไม่

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่