“อี้ แทนคุณ” แนะ สคบ. ถอดบทเรียนจาก “ดิไอคอน” สอนมวย ต้องรุกป้องกัน ไม่ใช่ล้อมคอก บี้ออกจากเงามืด อย่าปัดความรับผิดชอบ ควรแสดงออกเพื่อคลี่คลายปัญหา


วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ยังไม่ถอนใบอนุญาตบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป โดยรอถามคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนนั้น นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม ให้สัมภาษณ์ที่อาคารรัฐสภา ระบุว่า มีปัญหาหลายเรื่องของการวินิจฉัยเรื่องประเด็นข้อกฎหมายว่าอะไรผิด อะไรไม่ผิด ซึ่ง สคบ. ควรจะเป็นหน่วยงานต้นน้ำในเรื่องของการตรวจสอบว่ากรณีไหนเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติขายตรง และการตลาดแบบตรง รวมทั้งการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกง โดยต้องชี้ตั้งแต่แรกว่าดิไอคอนกรุ๊ปเข้าไปขอทำการตลาดแบบตรง ซึ่งมีประเด็นให้ชี้หลายเรื่อง เพราะภายหลังคนที่เป็นบอสระบุว่า รายชื่อคือรายได้ ซึ่งอาจจะคลุมเครือแต่หมิ่นเหม่

ดังนั้น หาก สคบ. ไม่มีความชัดเจนและไม่ขยันในการตรวจสอบ ก็จะยิ่งลุกลามบานปลาย เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจกฎหมายแบบละเอียด โดยเฉพาะบรรดาศิลปินที่ไปรับงานพรีเซนเตอร์ ยากที่จะเข้าใจ และยิ่งหากผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองจาก สคบ. แม้จะเป็นรางวัลบริจาคก็ควรต้องตรวจสอบให้ละเอียด อีกทั้งจะเป็นบทเรียนสำคัญของทุกหน่วยงานภาครัฐจะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าบางบริษัทที่อาจจะมีอะไรที่หวือหวาแล้วมาบริจาคเงินมากๆ เพื่อหวังรางวัล

“เช่นกรณีที่บริจาคครั้งละหลายๆ ล้าน ผู้บริหารโชว์หรู โชว์รวย อาจจะเป็นข้อสังเกต และ สคบ. อาจจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยควรเข้าไปตรวจสอบ ไม่ใช่แค่จัดการตามข้อกฎหมายแต่ต้องให้คำแนะนำด้วย เพราะส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบอสคนไหน ผมก็รู้สึกเห็นใจเพราะวันนี้ต้องอยู่ในเรือนจำ ดังนั้น หากมีกระบวนการต้นน้ำที่ช่วยกันกำกับดูแลและป้องกัน ไม่ใช่เน้นปราบปรามอย่างเดียว และคลี่คลายปัญหา ดีกว่าปล่อยให้ล้มทั้งยืนเช่นนี้”

...

ส่วนกรณีที่มีการหยิบยก สคบ. มาอ้างเพื่อหาประโยชน์ และมีการตบทรัพย์ ซึ่งหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ มีปัญหาอยู่ 2 เรื่องคือ การวิ่งเต้นเส้นสายกับการที่วิ่งเต้นให้สินบนเพื่อเอื้อประโยชน์ อาจจะเกี่ยวโยงกับการเมืองด้วยหรือไม่ แต่เรื่องของเงินมากมายการตรวจสอบเส้นทางการเงินคงไม่ยาก แต่ถ้าโยง 2 เรื่อง คือ เรื่องอำนาจคนและเรื่องเงิน สังคมต้องใช้กรณีดิไอคอนกรุ๊ป เป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาการทุจริตเชิงระบบ ที่ปัญหาเกิดจากเอกชนและโยงไปถึงภาครัฐ สคบ. ไม่ควรจะหลบอยู่ในเงามืด แต่ควรจะแสดงออกเพื่อต้องคลี่คลายปัญหานี้

“ที่ผ่านมาผู้เสียหายเชื่อถือ เพราะคิดว่าดิไอคอนถูกต้องเนื่องจากได้รับรางวัลจาก สคบ. ดังนั้น สคบ. จะปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไม่ได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ด้วยหรือไม่ ฉะนั้น คนที่เกี่ยวข้องกับ สคบ. และสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ควรอยู่เฉย ควรต้องกำกับดูแลให้ข้าราชการในสังกัดทำหน้าที่จริงจัง หากพูดอย่างตรงไปตรงมา สคบ. ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ดิไอคอนลุกลามบานปลายจนถึงทุกวันนี้ และขอฝากถึงบริษัทขายตรงต่างๆ ว่า ต้องหาความรู้ให้มากขึ้น เพราะกรณีที่เกิดขึ้นอาจจะสะท้อนว่า บางทีการพึ่งหน่วยงานภาครัฐอย่างเดียวไม่พอหรือไม่”