ห่างบ้านห่างเมืองเสียหลายวันเพราะไปร่วมประชุมเอเปกที่เปรู และแวะเวียนเยี่ยมคนไทยในสหรัฐอเมริกา วันนี้กลับถึงเมืองไทยเรียบร้อยแล้ว ในภาวะความเป็นไปของผู้นำประเทศนั้นอยู่ต่างประเทศน่าจะสบายอกสบายใจมากกว่าเพราะอยู่ในประเทศนั้น
มีแต่ปัญหา...
เรื่องใหญ่วันที่ 22 พ.ย.67 ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องว่าด้วยการล้มล้างการปกครองและครอบงำพรรค การเมือง
เป้าอยู่ที่ “ทักษิณ-เพื่อไทย” นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็หนีไม่พ้น ล่าสุดแม้มีข่าวว่าอัยการสูงสุดไปรับคำร้องประเด็นล้มล้างการปกครองก็เป็นข่าวด้านบวก
แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่รับอีกเรื่องหนึ่งเพราะยังมีประเด็นครอบงำพรรค “เพื่อไทย” อีกโสดหนึ่ง
ถ้าศาลรับก็เท่ากับผูกขาไว้ข้างหนึ่งแล้ว
อีกประเด็นที่รัฐบาลจะต้องแก้ให้ได้คือปัญหาเศรษฐกิจ
ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะชี้ถึงความเป็นไปของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและเพื่อไทย
นี่หมายถึงอนาคตทางการเมืองข้างหน้า หากทำให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้เสถียรภาพของรัฐบาลก็มั่นคงขึ้น
และมองยาวข้ามไปถึงการเลือกตั้งปี 2570 ได้
ในสนามการเมืองที่เป็นจริงที่ต่อสู้กันในปัจจุบันนั้นน่าจะแยกได้ 3 พรรค คือ เพื่อไทย ภูมิใจไทยและประชาชน
“เพื่อไทย” ถ้าจะไปให้สวยก็ต้องฝ่าด่านดังที่กล่าวมาแล้วให้ได้
จึงจะไปคิดถึงตัวเลข 200 เสียงขึ้นไปได้!
“ประชาชน” นี่ก็คิดถึงตัวเลข 200 เสียงขึ้นไป และมุ่งหวังว่าควรจะได้ 270 เสียงเพื่อจะได้เป็นพรรครัฐบาล
เนื่องจากพรรคการเมืองอื่นๆต่างก็ไม่ต้องการร่วมรัฐบาลด้วย
ติดปัญหา ม.112 ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่ได้เป็นรัฐบาลแม้ได้เสียงมาเป็นอันดับ 1 เพราะ ทั้ง สส. และ สว. ไม่สนับสนุนก็เพราะเรื่องนี้
...
อีกทั้งจะต้องสร้างนโยบายใหม่ที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่พอใจเพราะสนองความต้องการของพวกเขาได้
เพราะลำพังผู้สนับสนุนเชิงอุดมการณ์ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ มีไม่มากพอที่จะทำให้ได้ สส.ตามเป้าหมายได้
“ภูมิใจไทย” อีกพรรคการเมืองหนึ่งที่มีโอกาสขึ้นไปยืนอยู่บนแท่นได้เพราะมีพลังทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น
มี สส.เป็นอันดับ 2 คุมเสียง สว.ได้ทั้งหมด มีนักการเมืองท้องถิ่นเป็นแรงขับเคลื่อน และยังมีข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่คุมพื้นที่ทั่วประเทศเป็นกลไกที่จะสร้างความนิยม
วันนี้ทั้ง 3 พรรคมุ่งไปที่ภาคอีสานซึ่งมี สส.ถึง 133 คน หากพรรคสามารถได้ สส.ในภาคนี้มากที่สุด
ก็มีสิทธิที่จะชนะเลือกตั้งได้...
วันนี้ “ภูมิใจไทย” ยังไม่ค่อยแสดงท่าทีให้ชัดเจนในเรื่องนี้พยายามทำตัวไม่ต่างกับ “พี่เลี้ยง” รัฐบาล เพราะคงยังไม่ต้องการเปิดศึกโดยตรงกับ “เพื่อไทย”
แต่ด้วยลีลาและความเป็นไปที่เกิดขึ้น ต่างก็รู้ดีว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า
เมื่อถึงเวลานั้นคงได้เห็น...
“ประชาชน” แม้ก่อนหน้านี้ยังมีท่าทีที่ไม่ค่อยชัดเจนแต่หลังจากที่ “ทักษิณ” เดินหมากขย่มใส่ทำให้แกนนำพรรคเปิดฉากตอบโต้เต็มหมัดไม่ต่างกัน
นี่คือความจริงบนถนนการเมืองเรื่องของอำนาจ!
“สายล่อฟ้า”
คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม