“อนุดิษฐ์” มอง “ภูมิธรรม” เปิดโต๊ะคุย สอป. สะท้อนรัฐบาลตั้งใจทำให้การจัดซื้ออาวุธกองทัพโปร่งใส หวังเริ่มทันทีจัดซื้อบินรบฝูงใหม่ ที่ควรรอข้อเสนอที่คุ้มค่า-เป็นรูปธรรม ชงหากข้อเสนอยังไม่ดีพอ แนะปรับเป็นเครื่องบินรบยุค 4.5 แทน
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 จากกรณีที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตผู้บังคับฝูงบิน F-16 และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แสดงความเห็นต่อการจัดซื้อเครื่องบินรบของกองทัพอากาศไทย (ทอ.) โดยเน้นถึงความสำคัญของการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและผลกระทบต่อยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งต่อมา นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีการประชุมหารือร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ (สอป.) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางบูรณาการความเชี่ยวชาญในประเทศกับมาตรฐานระดับสากล ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในภูมิภาคนั้น
ล่าสุด รายงานข่าวจากสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกับนายภูมิธรรม สมาคมฯ ได้เสนอแนวทางสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในประเทศไทย ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. พัฒนาขีดความสามารถในประเทศ โดยส่งเสริมการต่อเรือฟริเกต การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงการพัฒนา UAV เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ
2. ยกระดับมาตรฐานสู่ระดับสากล โดยผลักดันให้อุตสาหกรรมในประเทศเป็นไปตามมาตรฐาน NATO และ ISO
3. นโยบายชดเชย (Offset Policy) ที่ชัดเจน โดยสนับสนุนการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดแนวทางที่เป็นรูปธรรม และตรวจสอบได้
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวเสริมว่า การประชุมระหว่างนายภูมิธรรม ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกำกับดูแลด้านความมั่นคง กับสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการสร้างความโปร่งใส และมุ่งหวังให้โครงการจัดซื้ออาวุธของกองทัพ ช่วยยกระดับเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศในระยะยาว และควรนำไปสู่การสร้างสมดุลระหว่างการตอบสนองความต้องการทางยุทธการของกองทัพ และการส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศ โดยหวังว่าโครงการจัดซื้ออาวุธของกองทัพต่อจากนี้ จะไม่เพียงตอบโจทย์ด้านการป้องกันประเทศ แต่ยังช่วยสร้างงานและเพิ่มขีดความสามารถในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเท่าที่ติดตามเห็นว่าข้อเสนอของสมาคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะส่งเสริมผลักดันให้เป็นรูปธรรม ซึ่งก็สามารถเริ่มได้ตั้งแต่การจัดหาเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ของ ทอ.
...
“การจัดซื้อเครื่องบินรบใหม่ของไทย ใช้งบประมาณสูงถึง 60,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการลงทุนสำคัญที่ต้องมีความรอบคอบ ทั้งในด้านยุทธศาสตร์ ความคุ้มค่า และผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
ขณะเดียวกัน น.อ.อนุดิษฐ์ ยังได้กล่าวย้อนด้วยว่า ความสำเร็จจากโครงการจัดซื้อเครื่องบิน T-6 และ AT-6 จากสหรัฐฯ ในอดีต ที่ดำเนินการด้วยความโปร่งใส พร้อมนโยบายชดเชยที่เป็นรูปธรรม เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ถือเป็นแนวทางที่สามารถนำมาปรับใช้ในโครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ครั้งนี้
“หากถึงที่สุด เรายังไม่ได้ข้อเสนอที่เหมาะสม คุ้มค่า และเป็นรูปธรรมมากพอ ผมก็ขอเสนอทางเลือกให้ชะลอโครงการจัดซื้อเครื่องบินรบของ ทอ. งบประมาณกว่า 60,000 ล้านบาท ครั้งนี้ออกไปก่อน และพิจารณาปรับปรุงเครื่องบินรบสู่ยุค 4.5 ที่สามารถพึ่งพาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งมีราคาถูกกว่า และตอบโจทย์ความต้องการในระยะสั้น เพื่อรอเงื่อนไขที่คุ้มค่ากว่าในอนาคต”