“ศิริกัญญา” มองนโยบายรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ อุตส่าห์รอมา 2 เดือนเต็ม กลับไม่มีอะไรชัดเจนสักอย่าง เย้ย แค่เปลี่ยนนายกฯ คนเดียว เหมือนตั้งรัฐบาลใหม่ ถามแจกเงินหมื่นคนอายุเกิน 60 ปี 3 ล้านคน ช่วยได้จริงหรือ
เมื่อเวลา 19.32 น. วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก หลังรัฐบาลมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า อุตส่าห์รอมา 2 เดือนเต็ม วันนี้คณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชุมนัดแรก เราได้ความชัดเจนอะไรบ้าง ลองมาดูกัน
1. แจกเงินหมื่นรอบที่ 2 (ยังไม่เป็น Digital Wallet) กับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป 3-4 ล้านคน โดยจะแจกประมาณต้นปีหน้า ช่วงตรุษจีน ยังไม่ชัดว่าแจกวันที่เท่าไหร่ ลงทะเบียนเพิ่มเมื่อไหร่
2. ปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้าน กลุ่มรถยนต์ และกลุ่มหนี้บริโภค ที่เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี วงเงินหนี้ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท จะได้รับพักชำระดอกเบี้ยค้างจ่าย รายละเอียดยังไม่ชัดต้องรอหลังวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567
3. โครงการไร่ละพันก็มา (ปกติต้องเป็นคณะกรรมการนโยบายข้าว หรือ นบข. ต้องเป็นคนเคาะ) แต่จะมีการปรับรายละเอียดอีกเพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในระยะยาว ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะปรับอะไร ได้ข่าวว่าน่าจะปรับจากแจกไม่เกิน 20 ไร่ เหลือไม่เกิน 12 ไร่ เท่ากับจะได้บ้านละไม่เกิน 12,000 บาท จากเดิม 20,000 บาท
“สรุปว่ายังไม่มีอะไรชัดเจนสักอย่าง จริงๆ นะ แค่เปลี่ยนนายกฯ คนเดียวนี่เหมือนอย่างกับตั้งรัฐบาลใหม่ เหมือนไม่เคยคิดเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจกันมาก่อนหน้านี้เลย ต้องเริ่มต้นใหม่ ต้องใช้เวลาถึง 2 เดือน หรือว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่สภาพัฒน์ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เพิ่งออกมาประกาศว่าโต 3% ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ อาจจะทำให้รัฐบาลรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ได้หรือไม่ ถึงได้ดูลังเล ไม่รีบร้อน”
...
น.ส.ศิริกัญญา ระบุต่อไปว่า ถ้าเราเจาะไส้ในของ GDP จะพบว่าที่เศรษฐกิจโตดีมาจากงบประมาณปี 2567 ที่ออกมาไตรมาส 2 และเร่งเบิกจ่ายกันในไตรมาส 3 ทั้งส่วนของรายจ่ายลงทุน และรายจ่ายประจำ บวกกับการส่งออกที่กลับมาดี และแน่นอนการท่องเที่ยวยังคงเติบโตได้ดี แต่ส่วนที่ยังเป็นปัญหาคือการลงทุนภาคเอกชนที่ยังหดตัวมา 2 ไตรมาสติดแล้วจากหมวดยานยนต์ และหมวดก่อสร้าง สอดคล้องกับยอดขายรถกระบะที่หดตัวลง (รถกระบะเชิงพาณิชย์นับเป็นการลงทุน) และยอดขายบ้านที่ลดลง ที่ทั้ง 2 เรื่องเป็นเรื่องของการไม่ปล่อยสินเชื่อของธนาคาร
แน่นอนว่าทั้ง 2 เรื่องโยงกลับไปที่ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลเองก็มีมาตรการแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน คือการปรับโครงสร้างหนี้ให้คนที่เป็น NPL ก็ดูเหมือนจะมาถูกทางหรือเปล่า มาดูกันว่าการปรับโครงสร้างหนี้รอบนี้จะช่วยอะไรบ้าง ช่วยให้ยอด NPL ลดลง ทำให้ธนาคารตั้งทุนสำรองลดลง ธนาคารมีกำไรเพิ่ม แต่ธนาคารจะปล่อยกู้เพิ่มหรือไม่ บอกเลยว่าไม่แน่เสมอไป เพราะสาเหตุที่ธนาคารไม่ปล่อยกู้ คือความเสี่ยงของลูกหนี้เอง ที่มีรายได้ไม่พอจ่ายหนี้ (credit risk) แปลว่าถึงธนาคารมีเงินเพิ่มก็ไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยกู้บ้าน กู้รถ เพิ่มในปริมาณเท่ากัน เหตุการณ์คล้ายๆ กันกับการที่แม้ดอกเบี้ยลด ก็ไม่ได้หมายความว่าธนาคารจะปล่อยกู้เพิ่ม
“วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ คือต้องทำให้รายได้ประชาชน รายได้ผู้ประกอบการดีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงฝั่งลูกหนี้ จะหวังแค่ว่าให้ GDP โตอย่างเดียวไม่ได้ ประชาชนต้องมีเงินมากขึ้นด้วย วิธีแก้รัฐบาลก็เลยแจกเงินหมื่นให้คนอายุเกิน 60 ปี 3 ล้านคน แบบนี้หรอ มันจะช่วยอะไรได้จริงๆ หรอ 2 เดือนที่รอคอย ยิ่งตามก็ยิ่งงงกับรัฐบาลนี้จริงๆ”
อ่านเพิ่มเติม : แจกเงิน 10,000 เฟสสอง ให้คนชรา 60 ปีขึ้นไป ไม่เกินตรุษจีน 68