“ทัพฟ้า” ยกเครื่องจ่อเปลี่ยนชื่อเป็น “กองทัพอากาศและอวกาศ” หลังจัดทำร่าง พ.ร.บ.กลาโหม เพื่อออกกฎหมายฉบับใหม่ ก่อนนำเข้าสภากลาโหมและรัฐสภาเพื่อใช้ชื่อใหม่ ยึดโมเดล ศร.ชล. ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยอื่น คาดใช้ได้ปี 2571
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 พล.อ.ท.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ แถลงที่กองบัญชาการกองทัพไทย ภายหลังประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ถึงการปรับโครงสร้างกองทัพอากาศ ตามที่ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้สั่งการ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ถึงแนวนโยบายปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางอวกาศกว่า 29,000 ล้านบาทต่อปี ที่มีการสื่อสารและถ่ายทอดสัญญาณต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 35,600 กิจการ มีการจ้างงาน 1.6 ล้านคน
โดยกองทัพอากาศ เตรียมจัดตั้งศูนย์ประสานงานการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศและอวกาศ ให้เป็นหน่วยขึ้นตรงของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ (ศปก.ทอ.) ซึ่งอยู่ในอำนาจของ ผบ.ทอ. ตั้งแต่ 1 เมษายน 2568 โดยมี เสธ.ทอ. เป็นผู้กำกับดูแล เพื่อให้เป็นหน่วยประสานงานทั้งภายในและนอกกองทัพอากาศ โดยศูนย์ดังกล่าวไม่ได้มีการเพิ่มอัตราหรือเงินเดือนเพิ่มแต่อย่างใด แต่ใช้กำลังพลจากศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ (ศปอว.ทอ.) สำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกองทัพอากาศ (สง.ปรมน.ทอ.) และหน่วยเกี่ยวข้อง หมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ประสานงานแห่งนี้
...
สำหรับการปรับโครงสร้างที่ต้องทำควบคู่ในปี 2568 ได้แก่ 1. จัดทำร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อเปลี่ยนชื่อกองทัพอากาศเป็น “กองทัพอากาศและอวกาศ” โดยเมื่อสภากลาโหมเห็นชอบแล้ว จะนำร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป อีกทั้งกองทัพอากาศพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศและอวกาศ เพื่อจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางอากาศและอวกาศ แบบ ศร.ชล. ของกองทัพเรือ เพื่อปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่น
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2568 เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาฯ และการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ภายในปี 2569 จากนั้นเป็นขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะใช้ระยะเวลา 3 ปี หรือราวปี พ.ศ. 2571