“จิราพร” เผย ปมถอนใบอนุญาตดิไอคอน ส่งถามกฤษฎีกาเพื่อความรัดกุม ย้ำ เป็นธรรมทุกฝ่าย ส่วนกรณี “เทวดา สคบ.” ขยายเวลาสอบอีก 30 วัน หลังสืบพบพยานหลักฐานเพิ่มเติม ยัน ทำเต็มที่ ด้านปมถูกนักร้องสาวพาดพิงเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงความคืบหน้าการถอนใบอนุญาตบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ว่า หลังมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และ สคบ. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้แสวงหาต้องถอนใบอนุญาตหรือไม่ โดยพบว่าบริษัทมีการจดทะเบียนบริษัทแบบตรงกับ สคบ. แต่ไม่ได้จดทะเบียนขายตรง แต่ที่ทุกคนทราบการจะเพิกถอนใบอนุญาตต้องรัดกุม ต้องดูข้อกฎหมาย รวมถึงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย สคบ. มีมติเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ให้มีการหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อจะให้เกิดความรัดกุม เมื่อมีการแจ้งเข้าหาเพิ่มเติมเรื่องแชร์ลูกโซ่ ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกา จะมีการหารือวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.00 น.
ส่วนการประชุมคณะกรรมการ สคบ. ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ น.ส.จิราพร ระบุว่า จะมีการหารือประเด็นดังกล่าวด้วย รวมถึงหาแนวทางป้องกันการทำผิดกฎหมายในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ส่วนแนวโน้มความเป็นไปได้ถอนใบอนุญาตดิไอคอนต้องให้กฤษฎีกาพิจารณาก่อน เมื่อมีผลออกมาจะต้องนำมาประกอบการพิจารณาต่อไป รวมถึงได้ส่งความเห็น สคบ. ไปยังกฤษฎีกาด้วย แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากต้องการให้เกียรติกฤษฎีกาพิจารณาเรื่องนี้ยืนยันเรื่องนี้ ตนได้สั่งการให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว แต่ต้องดูถึงตัวบทกฎหมายด้วย เพราะต้องรัดกุม และตั้งแต่มีเรื่องตนไม่ได้ล่าช้า ทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อถามถึงเหตุผลที่ถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพราะกลัวทนายของ นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ บอสพอล ฟ้องกลับในมาตรา 157 ใช่หรือไม่ น.ส.จิราพร ตอบว่า ใช่ ถึงแม้จะไม่มีใครขู่ฟ้อง แต่ขั้นตอนของกฎหมายมีอยู่ สคบ. ก็เป็นหน่วยงานของราชการทำอะไรไปก็พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และรอบคอบรัดกุม
...
นอกจากนี้ ตนได้สั่งการไปยัง สคบ. เข้าไปทำงานร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างการโอนคดี รวมถึงให้ สคบ. ทำงานร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สสค.) ในการเป็นพยานและให้ข้อมูลแชร์ลูกโซ่ จนเป็นที่มาในการตั้งข้อหาเพิ่มเติม โดยดีเอสไอได้มีการแจ้งข้อหาไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานร่วมกัน
ขณะเดียวกัน น.ส.จิราพร ยังกล่าวถึงความคืบหน้าหลังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ สคบ. เกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ ว่า คณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2567 โดยมีระยะเวลาสอบสวน 30 วัน และได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 2 คณะ คณะแรกตรวจสอบกรณีคลิปเสียง ส่วนอีกคณะดูข้อจำกัดทางกฎหมาย และดูการทำงาน สคบ. มีอะไรที่ต้องปรับปรุงทั้ง 2 คณะทำงานอย่างเต็มที่ และได้กำหนดตัวบุคคล เพื่อที่จะเรียกเข้ามาสอบเป็นพยานหลายคน ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาอีก 30 วัน จึงได้นำเรื่องเสนอไปที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยรอนายประเสริฐ ลงนามคำสั่ง ซึ่งจากมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตลอดเวลา อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการแสวงหาข้อเท็จจริง และให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายจึงมีความจำเป็นจะต้องขยายระยะเวลา สำหรับกรณีคลิปเสียงนักร้องสาวที่พาดพิงถึงตนและบิดา เรื่องนี้ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล.