“ปกรณ์” เลขาฯ กฤษฎีกา มอง ปมที่ดินเขากระโดง บุรีรัมย์ คุยกันจบได้ ชี้ MOU 44 ไม่ควรเลิกฝ่ายเดียว แนะใช้ “พื้นที่อ้างสิทธิ” แทนคำว่าพื้นที่ทับซ้อน จะเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า


เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงคำพิพากษาศาลปกครอง ให้เพิกถอนที่ดินเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ แต่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งไม่เพิกถอน ว่า โดยหลักแล้วเมื่อศาลมีคำพิพากษาต้องปฏิบัติไปตาม ส่วนความขัดแย้งระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกรมที่ดิน มองว่าเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสาร หากลำดับดีๆ หน่วยงานมาร่วมกันชี้แจง คิดว่าตรงกันได้ และไม่ใช่เรื่องว่าคำพิพากษาของศาลหรือคำสั่งอธิบดีใครใหญ่กว่าใคร ตนเห็นว่าไม่ควรพูดกันคนละที น่าจะตั้งโต๊ะร่วมกันและพูดกันเสียทีเดียว จะได้เข้าใจว่าเดิมที่มาที่ไปเป็นอย่างไร โดยหลักการต้องยึดตามคำพิพากษาของศาลปกครอง ไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกัน แต่กระบวนการและขั้นตอนยังไม่ตกลงกันให้ชัดเจน

นายปกรณ์ ระบุต่อไปว่า ตนคิดว่าถ้ามาจับเข่าคุยกันคงไม่เป็นปัญหามากนัก หากมีการพูดคุยกันคงไม่จบลงที่การฟ้องร้อง เพราะที่หลวงก็คือที่หลวง ที่เอกชนก็คือที่เอกชน แค่นั้นเอง ส่วนการแก้ปัญหา สมมติว่าเป็นที่หลวงแล้วให้เอกชนไปอยู่ เราจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร เช่น ให้เขาเช่าในราคาถูก อย่างนี้เราก็ทำกันเป็นปกติในกรณีที่ราชพัสดุ อย่างกรณีที่อยู่มานานจนคิดว่าเป็นที่ของตัวเอง พอพิสูจน์สิทธิกันได้ว่าเป็นของใครก็ทำตามกติกา ย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรกันหรอก แค่คุยกันคนละทีสองที ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า คำพิพากษาของศาลปกครองเคลียร์แล้วใช่หรือไม่ นายปกรณ์ ระบุว่า ตนยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม แต่น่าจะชัดเจนอยู่ เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวเป็นประเด็นการเมืองที่ทำให้สับสนใช่หรือไม่ นายปกรณ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยระบุว่า เรื่องการเมืองตนไม่รู้

...

ส่วนกรณีที่มีเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู (MOU) 2544 สามารถยกเลิกฝ่ายเดียวได้หรือไม่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเผยว่า ตามหลักการทำเอ็มโอยูมีจุดเริ่มต้นจากสองประเทศว่าจะคุยกันเรื่องอะไร ถามว่าการยกเลิกเอ็มโอยูฝ่ายเดียวทำได้หรือไม่ ตอบว่าทำได้ แต่ควรหรือไม่ คือไม่ควร เนื่องจากมีผลกระทบมาก ต้องให้เกียรติกัน เริ่มด้วยกัน เวลายกเลิกหลักการคือต้องพูดคุยกัน เมื่อถามถึงการอ้างพื้นที่ทับซ้อน นายปกรณ์กล่าวว่า เรื่องดินแดนทับซ้อนกันไม่ได้ ดินแดนใครดินแดนมัน แต่ระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่ที่ยังคุยกันไม่ตกลงว่าเป็นดินแดนของใคร จะใช้คำว่าทับซ้อนไม่ได้ มันผิด ต้องใช้คำว่า “พื้นที่อ้างสิทธิ” ต่างคนต่างอ้าง เพราะฉะนั้นเอ็มโอยูที่ทำขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่ได้บอกว่าอันนี้ของเรา อันนี้ของเขา แต่เป็นเรื่องที่เราตกลงกันว่าอันนี้เราจะคุยกันถึงแนวทางการกำหนดแนวเขตที่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ เป็นเพียงกรอบการหารือ

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า การใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อนในทางกฎหมายจะเสียเปรียบใช่หรือไม่ นายปกรณ์ตอบว่า ในกฎหมายระหว่างประเทศอาจมีผล ตนแนะนำให้สื่อมวลชนใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิ เพราะต่างคนต่างอ้าง ตอนนี้ยังไม่ได้มีของใครเป็นของใครแน่ การใช้คำว่าทับซ้อนคิดว่าไม่เป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว เนื่องจากจะมีคนเอาไปอ้างหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ต้องไปขึ้นองค์กรระหว่างประเทศเพื่อวินิจฉัย ก็จะหยิบยกไปอ้างได้ แต่หากเราคุยกันเป็นพื้นที่ต่างคนต่างอ้างสิทธิ มองว่าเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า และจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกว่า ตนพูดในแง่ทางวิชาการ ไม่มีการเมือง ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิมาตลอด ไม่เคยใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อน.