ยังเป็นประเด็นถกเถียงโต้แย้งระหว่างฝ่ายที่ต่อต้านคัดค้านกับฝ่ายที่สนับสนุนเดินหน้าการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ บนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย–กัมพูชา ประมาณ 26,000 ตร.กม. ที่รัฐบาลของแพทองธาร ชินวัตร นายก รัฐมนตรี จะเดินหน้าเจรจากับกัมพูชาตามเอ็มโอยู 44
ขณะที่สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พรรคฝ่ายค้านที่เป็นหอกในการคัดค้านเอ็มโอยู 44 ออกมากระตุกเตือนบอก แม้พรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนสนับสนุนการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะทราบถึงความจำเป็นของแหล่งพลังงาน
และยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทยแน่นอน แต่อาณาเขตทางทะเลรอบเกาะกูดได้ถูกละเมิดจากการลากเส้นผิดหลักกฎหมายสากลเจนีวา 1982 หรืออนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทางทะเล 1982 เป็นจุดเริ่มการเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นข้อโต้แย้งการเจรจา เมื่อตั้งต้นผิดจะเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่ชอบและไม่เป็นธรรม
จึงเสนอให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 เพราะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาที่จะบรรลุข้อตกลงเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน หากมีข้อยุติและเกิดการลงนามระหว่างสองประเทศจะทำให้ไทยเสียเปรียบการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงาน และถ้ามีข้อพิพาทในอนาคตก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการเสียพื้นที่อาณาเขตทางทะเลที่ไม่อาจแก้ไขได้
ร้อนถึงอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นผู้เริ่มต้นทำเอ็มโอยู 44 กับกัมพูชา ต้องออกมาช่วยแจกแจง เอ็มโอยูคือบันทึกข้อตกลง ที่จะคุยกันยังไม่ใช่ข้อตกลงที่ต้องนำเข้าสภาฯ เป็นเพียงแนวที่จะคุยกัน โดยมีกฎหมายรองรับ ทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ฉะนั้นไม่ต้องตกใจอะไรเลย
ขณะที่นพดล ปัทมะ สส.พรรคเพื่อไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ ก็ออกมา โต้กลับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่เรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 ว่าถ้ารัฐบาลยกเลิกจะไม่มีกรอบในการเจรจา ทั้งสองฝ่ายจะเข้าไปในพื้นที่อ้างสิทธิ์เพื่อสำรวจทรัพยากรไม่ได้ และจะไม่มีข้อตกลงเจรจาการแบ่งเขตแดนทางทะเลและการพัฒนาร่วมกัน
...
การันตีว่าไม่มีผลเสียต่อสิทธิ เขตแดนของไทย เพราะไม่ได้มีข้อความใดยอมรับเส้นแบ่งเขตแดนที่กัมพูชาขีดไว้และก็มีเส้นแบ่งเขตแดนของไทยอยู่ในนั้นด้วย งานนี้แม้คนฟากรัฐบาลยืนยันเอ็มโอยู 44 จะไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบ เสียดินแดน แต่เมื่อผู้คนยังหวาดระแวง ถ้าเดินหน้าเจรจาก็ต้องทำให้โปร่งใสและเปิดเผยทุกขั้นตอน.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม