เป็นอันว่าโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอในที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 8 พ.ย.67 ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

นบข.จึงสั่งให้กระทรวงเกษตรฯทบทวนใหม่ จากเดิมที่กำหนดรายละเอียดคือ รัฐบาลออกเงินให้เกษตรกรครึ่งหนึ่ง หรือไร่ละ 500 บาท และเกษตรกรจ่ายเองอีก 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ รวมครัวเรือนละ 10,000 บาท วงเงินรวม 29,000 ล้านบาท

เพราะโครงการนี้มีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ และมีความเห็นขัดแย้งจากหลายฝ่าย ตั้งแต่ความชัดเจนในการจัดหาผู้ผลิตปุ๋ยที่จะเข้าร่วมโครงการ, การกำหนดราคากลางของปุ๋ยแต่ละชนิด, การให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำแอปพลิเคชัน เพื่อให้เกษตรกรเข้าไปซื้อปุ๋ย ฯลฯ

ที่สำคัญเกษตรกรไม่มีเงินพอจ่ายได้ไร่ละ 500 บาท เนื่องจากโดยปกติของการซื้อขายปุ๋ย เกษตรกรจะนำปุ๋ยจากพ่อค้ามาใช้ก่อน แล้วจ่ายค่าปุ๋ยพร้อมดอกเบี้ยให้เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว

ดังนั้น เกษตรกรจึงเรียกร้องให้ปรับโครงการใหม่ เป็นแจกเป็นเงินสดไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ รวม 10,000 บาท เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพราะช่วยเหลือได้ตรงจุด ไม่ซับซ้อน แต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ

“นายพิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์ ระบุว่า “นบข.มอบหมายกระทรวงเกษตรฯ ทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีการให้เหมาะสม รัดกุม โดยให้คงมาตรการหรือโครงการลักษณะที่สนับสนุนการเพิ่มระดับผลิตภาพ ผ่านการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดิน พัฒนาแหล่งน้ำ และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร และให้นำเสนอ นบข.อีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่รู้ว่าเกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือในด้านลดต้นทุนการผลิตหรือไม่แต่ นบข.ได้เห็นชอบรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 67/68 จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่

...

1.สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี หรือจำนำยุ้งฉาง เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 8,362.76 ล้านบาท โดยรัฐจะช่วยค่าฝาก 1,500 บาท/ตัน หากเกษตรกรเก็บไว้ที่ยุ้งฉางตนเอง แต่หากฝากเก็บไว้ที่สหกรณ์ สหกรณ์จะรับ 1,000 บาท/ตัน เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน ระยะเวลา 1-5 เดือน เริ่มตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ-28 ก.พ.68 

แต่ระหว่างการเก็บข้าวเปลือกไว้ เกษตรกรสามารถนำข้าวเปลือกไปขอสินเชื่อจากธ.ก.ส.ได้ โดยข้าวหอมมะลิจะได้ 12,500 บาท/ตัน เพิ่มจากปีก่อน 500 บาท/ตัน, ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 11,000 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 500 บาท/ตัน, ข้าวหอมปทุมธานี 10,000 บาท/ตัน, ข้าวเจ้า 9,000 บาท/ตัน และข้าวเหนียว 10,000 บาท/ตัน หากข้าวราคาขึ้น เกษตรกรสามารถไถ่ถอนออกมาจำหน่ายได้

 2.สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อนที่เป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 656.25 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.5% ระยะเวลา 15 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อตั้งแต่ ครม.มีมติ-30 ก.ย.68 3.ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 4 ล้านตัน วงเงิน 585 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 3% เก็บ 2-6 เดือน เริ่มรับซื้อตั้งแต่ ครม.มีมติ-31 มี.ค.68

ลุ้นกันอีกเฮือก รัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไร!!

ฟันนี่เอส

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม