“ชูศักดิ์” ยัน กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเพื่อไทย ไร้คดีมาตรา 110 และ 112 มั่นใจ ยื่นทันสมัยประชุมหน้า เผย จ่อตั้ง คกก.แห่งชาติ แก้ปัญหาที่ดินวัด-สำนักสงฆ์ ส่วนเรื่องพฤติกรรมเป็นหน้าที่คณะสงฆ์

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ฉบับพรรคเพื่อไทย ว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยจะครอบคลุมแค่คดีทางการเมือง แต่จะไม่นิรโทษกรรมคดีในมาตรา 110 และ มาตรา 112 ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามต่อ เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 จะสามารถเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยได้ทันหรือไม่ นายชูศักดิ์ มั่นใจว่าทันรวมกับอีก 4 ร่างเพื่อรอการพิจารณาอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องเป็นไปตามระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ตามลำดับไม่ใช่ว่ายื่นร่างเข้าไปแล้วได้รับการพิจารณาทันที

ส่วนประเด็นการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยมีมติเป็นเอกฉันท์ไปแล้วว่าจะใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว คงจะยืนตามนั้น ทางด้านคำถามว่าหากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมมีแนวทางไม่ตรงกับมติของ สส. พรรคเพื่อไทยจะคัดค้านและอาจทำให้กฎหมายต้องชะลอไปอีก 180 วันหรือไม่ นายชูศักดิ์ ตอบว่า แน่นอน หาก สส. ไม่เห็นด้วย ก็ต้องรอ หลังจากผ่านไป 180 วันค่อยว่ากัน เพราะระบบของเราคือเอาความเห็นของ สส. เป็นหลัก

เมื่อถามต่อไปว่า หากเป็นอย่างนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐบาลชุดนี้จะเป็นไปได้ยากใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเร่งรัดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด โดยใช้คำว่ารัฐธรรมนูญของประชาชน ดังนั้น ต้องเร่งรัดโดยเร็ว ซึ่งกำลังคิดอยู่ว่าจะหาวิธีการใดที่จะทำให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น และสามารถทำให้รัฐธรรมนูญเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ แต่อย่างที่เลขาธิการพรรคเพื่อไทยพูดไว้ หากไม่เสร็จอย่างน้อยเราก็มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เป็นตัวแทนประชาชนมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือว่าได้ทำหน้าที่แล้ว

...

ขณะที่คำถามว่าสามารถเปิดเผยแนวทางเร่งรัดกระบวนการได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ ระบุว่า ขึ้นอยู่กับเราจะทำประชามติกี่ครั้ง เพราะขณะนี้ยังไม่ลงรอยกันเลยว่าจะทำ 3 ครั้งหรือ 2 ครั้ง แต่แนวทางขณะนี้คือทำ 3 ครั้ง ส่วน 2 ครั้ง หลายคนบอกทำไม่ได้เพราะเสี่ยง ตอนนี้จึงกำลังไตร่ตรองกันอยู่ว่าจะเป็นวิธีการใด สุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับว่าจะตัดสินใจเรื่องกฎหมายประชามติอย่างไร

นอกจากนี้ นายชูศักดิ์ ในฐานะกำกับดูแลสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ยังได้กล่าวถึงกรณีปัญหาพระออกมาเรี่ยรายเงิน จะประสาน พศ. แก้ปัญหาอย่างไร ว่า ต้องคุยกันหลายเรื่อง เท่าที่ตนตั้งเป้าไว้คือ จะตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อแก้ปัญหาการใช้ที่ดินวัดและสำนักสงฆ์ ซึ่งขณะนี้มีปัญหาทั่วประเทศว่าวัดและสำนักสงฆ์ไม่มีที่ดินของตัวเอง ส่วนใหญ่จะใช้ที่สาธารณะและถูกปัญหาร้องเรียน เขาจะขอวิสุงคามสีมา หรือการดำเนินการเพื่อให้วัดมีฐานะสมบูรณ์ทางกฎหมายก็ขอไม่ได้ เพราะมีปัญหาที่ดิน เป็นต้น จึงจะตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา เอากรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูทั้งหมด

ส่วนความประพฤติของพระสงฆ์ซึ่งเราก็รวบรวมข้อเท็จจริง คนแก้ก็คือคณะสงฆ์ที่ต้องไปดูปัญหาเหล่านี้ว่ามีความผิดอย่างไร จะต้องเคร่งครัดอย่างไร ทั้งนี้ตนได้ให้นโยบาย พศ. โดยตนบอกว่าถ้าดูรัฐธรรมนูญดีๆ ฉบับนี้เขียนแปลกกว่าฉบับอื่น โดยให้มีมาตรการในการป้องกันการทำลายพระพุทธศาสนาด้วย ซึ่ง พศ. ต้องไปดูว่ามาตรการเขาเขียนแบบนี้แปลว่าอะไร ก็หมายความว่ามันมีพฤติกรรมการกระทำโดยรวมแล้วที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา ถือเป็นการทำลายศาสนาก็ต้องรวบรวมข้อเท็จจริง และเอาเป็นกฎเป็นระเบียบอะไรต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องคณะสงฆ์ต้องไปพิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า ในช่วงบ่ายของวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 พรรคเพื่อไทยมีกำหนดการจัดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2567 เพื่อรับรองผลการดำเนินงานของพรรค ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด แต่ยังไม่มีการปรับโครงสร้างพรรค โดยการประชุมครั้งนี้จะจัดที่อาคารวอยซ์ทีวีเดิม ซึ่งมีการปรับปรุงเป็นที่ทำการพรรคเพื่อไทยแห่งใหม่เป็นครั้งแรก โดยในเวลา 10.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นเวลา 13.00 น. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่หนึ่ง 1/2567 ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว น.ส.แพทองธาร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะไปเข้าร่วมประชุมพรรคด้วย