ประเด็นร้อนทางการเมืองที่กำลังร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ MOU44 หรือ MOU 2544 หรือ “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในทะเลอ่าวไทยระหว่างไทย-กัมพูชา” ที่ นายกฯแพทองธาร ชินวัตร สั่งเดินหน้าเจรจากับกัมพูชาต่อ ซึ่งเป็น MOU ที่ทำขึ้นในสมัย คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯปี 2544 เพื่อใช้เจรจาแบ่งปันผลประโยชน์นํ้ามันและก๊าซมหาศาลในพื้นที่ทับซ้อน โดยมีบริษัทนํ้ามัน “เชฟรอน” ของสหรัฐฯ ได้รับสัมปทานบริษัทเดียว จากไทยและกัมพูชา ท่ามกลางเสียงคัดค้านของนักวิชาการและนักการเมือง กลัวไทยจะเสียเปรียบกัมพูชา และ เสียดินแดน “เกาะกูด” ให้กัมพูชา
เรื่องนี้ กัมพูชายังไม่ได้พูดอะไร แต่ พรรคเพื่อไทย แถลงแทนกัมพูชาว่า กัมพูชาไม่เคยเคลมสิทธิเหนือพื้นที่ทับซ้อน (ทั้งที่ขีด แผนที่ทับเกาะกูด) นายกฯแพทองธาร ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้นำกัมพูชา ผู้นำกัมพูชาได้ถามว่ามีอะไรจะให้ทางกัมพูชาสนับสนุนประเทศไทยหรือไม่ก็ให้แจ้งมา และหลัง 18 พ.ย.นี้จะตั้ง คณะกรรมการทางเทคนิค (JTC) ขึ้นมาพูดคุยผ่านคณะกรรมการชุดนี้
เรื่องนี้มีคนให้ความเห็นและวิเคราะห์ไปมากแล้ว วันนี้ผมจะนำ “เอกสารวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์” ของ สถาบันวิจัยทางยุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย เรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทบริเวณพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา” มาเล่าสู่กันฟัง เพราะอ่านแล้วรู้สึกว่ามีเหตุผลที่เป็นกลางและวิเคราะห์โดยสถาบันกองทัพไทย ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันประเทศและรักษาอธิปไตยของไทย เอกสารวิเคราะห์ฉบับนี้ได้เตือนว่า “ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีประเด็นซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงอันจะนำไปสู่การเสียกรรมสิทธิ์เหนือดินแดน (Risk of Prejudice) ได้”
...
ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่เกิดขึ้น แม้ กระทรวงการต่างประเทศจะออกมาแถลงแก้ตัวนํ้าขุ่นๆว่า เอ็มโอยู 44 ไม่ได้ทำให้เราเสียเกาะกูด เพราะว่า สนธิสัญญากรุงสยาม–ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ระบุชัดเจนว่า เกาะกูด เป็นของไทย ซึ่งก็เป็นความจริง
แต่ ปี 2515 กัมพูชาได้ประกาศแผนที่ใหม่ ขีดเส้นผ่าเกาะกูดของไทยออกเป็น 2 ส่วน เพื่อครอบครองอ่าวไทย โดยอ้างเขตเศรษฐกิจพิเศษจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล ทำให้ไทยต้องประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ 200 ไมล์ทะเลในปี 2516 ตามมา เพื่อปกป้องดินแดนของไทย ส่งผล ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร แสดงให้เห็นว่า กัมพูชาจงใจสร้างแผนที่ใหม่ โดยไม่สนใจสนธิสัญญากรุงสยาม-ฝรั่งเศสที่รัฐบาลไทยอ้าง
เมื่อเกิด “พื้นที่ทับซ้อน” ขึ้นอย่าง “จงใจ” แล้ว ไทยกับกัมพูชา ได้มีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล 2 ครั้ง แต่ก็ไม่มีข้อยุติ
มีการตั้ง “คณะกรรมการเทคนิคไทย–กัมพูชา” (JTC) ขึ้นมา เจรจา มีการประชุมครั้งแรก 6-7 ธ.ค.2544 เพื่อกำหนดเขตทาง ทะเลตั้งแต่ “หลักเขตที่ 73” บริเวณบ้านหาดเล็ก ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา แต่ไม่มีข้อสรุป จนกระทั่ง 10 ส.ค.2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ขณะนั้น ได้ไปเยือนกัมพูชา เพื่อเจรจาแสวงประโยชน์ร่วมกันในการ สำรวจขุดเจาะก๊าซและนํ้ามันบนพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งไทยและกัมพูชาได้ให้สัมปทานพื้นที่ทับซ้อนกับ “เชฟรอน” ไปแล้ว
ฝ่ายไทย นายกฯทักษิณ เสนอแบ่งพื้นที่ทับซ้อนเป็น 3 เขต พื้นที่ ตรงกลางแบ่งกันฝ่ายละ 50-50 ข้อนี้กัมพูชารับข้อเสนอ ส่วนพื้นที่ทับซ้อนด้านซ้ายและด้าวขวา ฝ่ายไทยเสนอแบ่งกัน 60-40 แต่ ฝ่ายกัมพูชาเสนอแบ่งกัน 90-10 จึงไม่ได้ข้อยุติจนถึงปัจจุบัน
การแบ่งผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนแบบนี้ ผมคิดว่าคนทั่วไปก็คงนึกออก มันคือ “การแบ่งดินแดนโดยปริยาย” นั่นเอง ก๊าซนํ้ามันอยู่พื้นที่ใครมากกว่า ฝ่ายนั้นก็ได้ประโยชน์มากกว่า ดังนั้น MOU44 จึงเสี่ยงอย่างยิ่งที่ “ไทยจะเสียดินแดนเกาะกูดให้กัมพูชา” ตาม “เจตนา” ของกัมพูชาที่ จงใจขีดเส้นผ่าเกาะกูดออกเป็นสองซีก แล้วก็นั่งรอเวลา.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม