ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ในวันเสาร์ที่ 9 พ.ย. เพื่อลงตีพิมพ์ในวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. ซึ่งจะเป็นวันประชุม (หลังจากเลื่อนมา 2 ครั้ง) ของคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยท่านใหม่แทนท่านเก่าที่ครบวาระ

ข้อมูลขณะผมเขียนหนังสือยังไม่มีอะไรใหม่ ทุกอย่างยังเหมือนเดิมว่า “แคนดิเดต” ยังเป็น 3 คนเดิม ได้แก่ 1.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์, 2. คุณกุลิศ สมบัติศิริ และ 3. คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง

ผลจะลงเอยอย่างไร? จะได้ตัวบุคคลหรือไม่? ฝากติดตามด้วยนะครับ...ผมเองเรียนแล้วว่าโดยส่วนตัว “พรหมลิขิต” บันดาลชักพาให้รู้จักกับทั้ง 3 ท่านอย่างดียิ่ง

อย่างไรก็ดี จุดยืนก็ต้องเป็นจุดยืน...ผมเห็นว่าประธานแบงก์ชาติจะต้องไม่ใช่บุคคลที่ใกล้ชิดหรือชัดเจนว่ามาจากการเมืองครับ เพื่อรักษาภาพแห่งความเป็นกลางของแบงก์ชาติเอาไว้ให้เป็นที่ประจักษ์

แก่ทุกๆสายตา ไม่ว่าจะเป็นจากทั่วโลกหรือประเทศไทยเราเอง

ล่าสุด ก่อนขึ้นแท่นมีรายงานข่าวว่ากระทรวงการคลังอาจเสนอชื่อนาย พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แทนคุณ กิตติรัตน์ จะเป็นเช่นนี้หรือไม่ อย่าลืมติดตามข่าวด้วยนะครับ

ก็พอดีผมนั่งอ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศในเช้าวันนี้จากหลายๆสำนัก พบว่า “ประธานแบงก์ชาติ” ที่บัลลังก์กำลังสั่นสะเทือนอย่างยิ่งอีกท่านหนึ่ง ได้แก่ ท่านประธานธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ The Fed ที่เราได้ยินชื่ออยู่เสมอๆ

ท่าน เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ที่เรารู้จักและได้ยินชื่อเสียงท่านอย่างดียิ่งนั่นแหละครับ

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯสำคัญมาก ต่างกับประธานแบงก์ชาติของเราลิบลับ เพราะของที่โน่นก็คือ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ นั่นเอง ทำหน้าที่เหมือนผู้ว่าการแบงก์ชาติในประเทศอื่นๆ...และสำหรับคุณพาวเวลล์นั้นได้รับการแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งนี้โดยคุณโดนัลด์ ทรัมป์ นี่แหละ เมื่อปี 2018 ในยุคที่คุณทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก

...

วาระประธานของท่านเจอโรมจะหมดลงในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2026 จากนี้ไปก็ประมาณ 1 ปี 6 เดือนเศษๆ แต่ด้วยนโยบายเศรษฐกิจของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ประกาศจะแทรกแซงในทุกกลไกเศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายการเงินที่คุณทรัมป์พูดบ่อยๆว่าอยากให้หลวมๆลงบ้าง ซึ่งแปลว่าอยู่ตรงข้ามกับนโยบายของ FED โดยเฉพาะท่านประธานคนปัจจุบัน

เมื่อวานนี้เองหลังประกาศลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงอีก 0.25 เปอร์เซ็นต์ตามที่ทุกๆฝ่ายคาดหมายไว้เรียบร้อย ระหว่างแถลงข่าวช่วงหนึ่งก็มีนักข่าวถามขึ้นว่า

“ท่านประธานจะยอมลาออกจากตำแหน่งไหมครับ? ถ้าว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์เรียกร้อง?”

คุณเจอโรม พาวเวลล์ ตอบสั้นๆคำเดียวว่า “NO” 

นักข่าวถามอีกว่าประธานาธิบดีทรัมป์มีอำนาจในการปลดท่านออกจากตำแหน่งหรือไม่? คุณเจอโรมก็ตอบสั้นๆอีกว่า “กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำได้”

ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจรายงานต่อว่า หากไม่สามารถทำตามกฎหมาย (คือปลดประธานปัจจุบันได้) จะเป็นไปได้ไหมที่ทรัมป์อาจจะตั้ง “ประธานเฟดเงา” ขึ้น เพื่อผลักดันให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของสหรัฐฯกลับมาฟู่ฟ่าอย่างรวดเร็ว

เนื่องเพราะท่านเจอโรม พาวเวลล์ ท่านยึดมั่นในหลักและตำราเศรษฐกิจที่บรรดาปรมาจารย์ต่างๆของสหรัฐฯนั่นแหละ สอนไว้ว่าธนาคารกลางจะต้องเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำโดยการเมือง และจะต้องตัดสินใจด้วยข้อมูลและสถานการณ์ที่เป็นจริงเท่านั้น...ไม่ใช่จากนโยบายทางการเมืองใดๆ

เอาล่ะซี...อะไรจะเกิดขึ้นที่อเมริกา ประเทศที่สอนนักเศรษฐศาสตร์ทั้งโลกว่า “ธนาคารกลางต้องเป็นอิสระ” ในยุคที่ว่าที่ผู้นำของสหรัฐฯ คนใหม่ไม่เห็นเช่นนั้น...กลับคิดจะใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจทุกตัว รวมธนาคารกลางด้วยเพื่อปั่นเศรษฐกิจเต็มที่จนอาจลืมเรื่องเสถียรภาพในอนาคต ดังที่เป็นข่าว

จะมีนักวิชาการสหรัฐฯออกมาลงชื่อคัดค้านโดนัลด์ ทรัมป์ หรือไม่ อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ.

"ซูม"

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม