โฆษก ศปช. เผย ความกดอากาศจีน ทำ 4 จังหวัดภาคเหนือ มีฝน 6-7 พ.ย. นี้ ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเฮลิคอปเตอร์สแตนบาย จ.สุราษฎร์ธานี หากเกิดอุทกภัย ส่วนเงินเยียวยาน้ำท่วม ขอประชาชนกลุ่มตกค้าง เร่งยื่นขอรับเงินช่วยเหลือโดยเร็ว
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 เมื่อเวลา 14.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศปช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหาให้ผู้ประสบภัยของ ศปช. อย่างใกล้ชิด อีกทั้งให้ความสำคัญกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ไม่ให้เป็นอุปสรรคหรือขวางทางไหลของน้ำ ซึ่งอาจมีการทบทวนการก่อสร้างใหม่ เพื่อไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม ที่สำคัญต้องสอดคล้องกับเส้นทางน้ำในอนาคต โดยวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ เวลา 16.00 น. จะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เสนอแผนการดำเนินงานระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน
นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนฉบับที่ 12 อากาศแปรปรวนประเทศไทยตอนบน ซึ่งเป็นฉบับสุดท้าย อุณหภูมิลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส ยอดดอยและยอดภูมีอากาศเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ และวันนี้ (6 พ.ย. 67) ถึงวันพรุ่งนี้ (7 พ.ย. 67) อิทธิพลของคลื่นลมกระแสตะวันตก ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงในภาคเหนือ โดยเฉพาะแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน
ส่วนพื้นที่ภาคใต้ยังเฝ้าระวังฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขัง และในพื้นที่ดังกล่าวต้องเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากด้วย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ที่จ.พังงา ตรัง พัทลุง สตูล ยะลา และนราธิวาส ซึ่งกรมทรัพยากรธรณี ได้ประสานอาสาสมัครเครือข่ายในพื้นที่เฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ เช่นเดียวกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ KA-32 เข้าไปประจำการที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงที
...
“บ่ายวันนี้ กระแสลมตะวันตก เป็นตัวแปรทำให้เกิดฝนกระจายตัวในพื้นที่ประเทศเมียนมาและประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคเหนือ ที่เคยน้ำท่วมทั้งที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน แม้ส่งผลกระทบไม่มาก แต่ทุกหน่วยได้เตรียมพร้อมรับมือไม่ให้กระทบประชาชนแล้ว ส่วนภาคใต้ระยะนี้ ยังมีฝนยังตกต่อเนื่องในพื้นที่เดิม ต้องเฝ้าระวังดินถล่ม น้ำป่าหลาก โดยเฉพาะที่จ.ชุมพร ฝนตกติดต่อกัน 4 วัน ทำให้บางจุดมีน้ำท่วมขัง เช่นเดียวกับที่อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สำหรับพายุไต้ฝุ่น “หยินชิ่ง” ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากทิศทางยังมีการเปลี่ยนแปลง” นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ตามมติ ครม. วันที่ 17 กันยายน 2567 และ 8 ตุลาคม 2567 ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับเงินเยียวยาเร็วที่สุด ล่าสุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินโอนเงินผ่าน PromptPay ให้ผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 9,000 บาทแล้ว 18 ครั้ง 205,725 ครัวเรือน เป็นเงินรวม 1,851,473,000 บาท ทั้งนี้ ศปช. ขอเน้นย้ำผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา และมีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินให้เร่งยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือฯ โดยเร็ว