การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ทั่วโลกกำลังลุ้นว่าใครจะชนะระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งรีพับลิกันกับ “คามาลา แฮร์ริส” แห่งเดโมแครต
คนแรกนั้นเคยเป็นประธานาธิบดีมา 1 สมัย แค่ไม่สามารถรักษาเก้าอี้ในสมัยที่ 2 ได้พ่ายแพ้แก่ “โจ ไบเดน” ก็กลับมาสู้อีกครั้ง
คู่แข่งเป็นสุภาพสตรีที่เคยเป็นรองประธานาธิบดีและได้รับการเลือกให้เป็นคู่ชิงในคราวนี้ หากชนะก็จะเป็นประวัติศาสตร์ ของสหรัฐฯ
ที่ “ผู้หญิง” ได้เป็นผู้นำประเทศคนแรก
ว่าไปแล้วความสนใจของประเทศต่างๆนั้นน่าจะมองไปที่ว่าใครชนะและจะเกิดอะไรตามมามากกว่าเนื่องจากนโยบายและแนวทางจะส่งผลไปทั่วโลก
ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การทหารและศึกสงครามที่เวลานี้โลกก็เกิดปัญหาทั้งที่ยูเครนและตะวันออกกลาง
แม้โดยสรุปทุกอย่างขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของสหรัฐฯเป็นหลัก
แต่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ซึ่ง 2 พรรคนี้มีความแตกต่างกันโดยเฉพาะถ้า “ทรัมป์” ชนะ
จะเกิดผลด้านเศรษฐกิจมากที่สุด
เพราะมีนโยบายอเมริกันมาก่อนที่ประกาศไปแล้วคือการขึ้นภาษีสินค้าทุกอย่างจากต่างประเทศที่นำเข้าในสหรัฐฯ
ที่สำคัญก็คือการกีดกันการค้ากับจีนที่เป็นศัตรูหมายเลข 1
ไทยก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยทั้งแง่บวกและแง่ลบส่วนหนึ่งอาจมีการย้ายฐานการผลิตสินค้ามาเมืองไทยมากขึ้นอีกด้านหนึ่งก็ต้องต่อสู้กับสินค้าของจีนที่มีราคาถูกกว่า
นี่เป็นเพียงเบื้องต้น...
แต่ปัญหาของไทยที่ซ้อนกันอยู่นั้นคือแนวทางที่มีการตั้งหัวข้อว่า “ทางรอดของไทยคือพลังงานราคาถูก”
เนื่องจากเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้า สภาพชีวิตของคนไทยที่ต้องใช้พลังงานซึ่งมีราคาแพงกว่าประเทศอื่นมาก
...
น้ำมันแพง ก๊าซแพง ไฟฟ้าแพง
ซึ่งภาคเอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหานี้แต่เนื่องจากไทยไม่มีแหล่งพลังงานเอง แม้จะมีก๊าซแต่วันนี้เริ่มจะหมดลงแล้ว
ดังนั้นจึงหวังที่จะได้พลังงานจากแหล่งใต้ทะเลในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชาที่กำลังมีปัญหาทางสังคม ณ วันนี้
“เกาะกูด” ซึ่งเป็นของไทยแต่ในเอ็มโอยู 44 กลับถูกมองอย่างไม่ไว้เนื้อเชื่อใจว่าหากมีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเลในพื้นที่ 16,000 ตร.กม. ซึ่งมีน้ำมันและก๊าซมูลค่ามหาศาล
ไทยจะต้องเสีย “เกาะกูด” ให้กัมพูชาเพราะเอ็มโอยู 44 ที่ทำไว้
แต่รัฐบาลยืนยันมาหลายรอบแล้วว่าไม่เกี่ยว เพราะเกาะกูดนั้นเป็นของไทยอยู่แล้ว ล่าสุดก็เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาประชุม โดยให้เจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่างประเทศชี้แจง
ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกัน
แต่ก็ยังไม่เคลียร์ โดยกลุ่มคนไม่เชื่อในคำแถลงดังกล่าวยังเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 ซึ่งรัฐบาลชี้แจงว่ายกเลิกไม่ได้ต้องให้ 2 ประเทศยินยอมและจะทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้
นี่คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหา
เพราะความต้องการใช้พลังงานสูงและถ้าช้ามูลค่าก็จะลดลงเนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่พลังงานสีเขียวซึ่งเป็นพลังงานสะอาด
หน้าที่ของรัฐบาลก็คือต้องเจรจาเพื่อนำพลังงานเหล่านี้มาใช้ให้ได้โดยที่ไทยไม่ต้องเสียดินแดนคือ “เกาะกูด”
นั่นคือต้องทำให้คนไทยเชื่อมั่นและไว้วางใจ
เพื่อนำพลังงานมหาศาลขึ้นมาใช้เพราะมีความจำเป็น!
"สายล่อฟ้า"
คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม