“รมว.นฤมล” ยืนยัน ปีนี้เขื่อนขนาดใหญ่เก็บน้ำได้มาก การเพาะปลูกเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เผย ครม.เร่งอนุมัติงบ 2.57 พันล้านบาท ฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรประสบอุทกภัย หลังน้ำลด สามารถเพาะปลูกรอบใหม่ได้เร็วที่สุด
วันที่ 6 พ.ย. 2567 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงข่าวดีของเกษตรกรว่า ปีนี้อ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ สามารถกักเก็บน้ำได้ ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก (65,948 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 72% (41,752 ล้าน ลบ.ม.) ถือว่ามีปริมาณน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์ดี การเพาะปลูกเป็นไปตามแผนที่วางไว้ 10 ล้านไร่
รมว.เกษตรฯ ยังกล่าวว่า เมื่อวานนี้ (5 พ.ย. 67) ที่ประชุม ครม.เคาะแนวทางกำจัดการเผาตอซัง อ้อย ข้าวโพด เพื่อลดมลพิษฝุ่น PM 2.5 ให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ล่วงหน้ารณรงค์เกษตรกร หยุดเผาวัชพืช ตอซังที่เกิดจากผลผลิตทางการเกษตรให้ได้ผลทั้งก่อนและหลังฤดูเพาะปลูก
โดย ครม.เห็นชอบงบกลาง 2.57 พันล้านบาท เร่งฟื้นฟูเกษตรกรหลังน้ำลด 8 โครงการ อาทิ โครงการฟื้นฟูอาชีพใช้งบกว่า 2 พันล้านบาท โครงการปรับเพิ่มพื้นที่ ระบบส่งน้ำชลประทาน และลดภาระหนี้สิน เช่น ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 3 ให้กับลูกหนี้สหกรณ์การเกษตร เพื่อเข้าสู่การเพาะปลูกรอบใหม่โดยเร็ว
...
หารือกลุ่มขับเคลื่อนกล้วยไม้ไทยแห่งชาติ กระตุ้นตลาดกล้วยไม้ แข่งขันตลาดโลก
วันเดียวกันนี้ นางนฤมล ได้พบหารือร่วมกับ นายพยงค์ คงอุดมทรัพย์ ประธานกลุ่มกล้วยไม้ไทยแห่งชาติ นายสมบัติ ตันเสถียร ประธานสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด และคณะ เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ไทยเพื่อการส่งออก พร้อมกระตุ้นตลาดกล้วยไม้ภายในประเทศให้มากขึ้น โดยผลักดันให้เกิดการจัดงานวันกล้วยไม้แห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี รวมทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์กล้วยไม้ไทย ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก
นางนฤมล กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมสนับสนุนส่งเสริมผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ไทย ดังนี้ 1. สนับสนุนการขยายช่องทางการตลาดในและต่างประเทศ 2. ส่งเสริมให้มีการพัฒนากล้วยไม้ที่มีคุณภาพ ตามมาตรฐานการส่งออก 3. ส่งเสริมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษากล้วยไม้และสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้า 4. สนับสนุนการประชาสัมพันธ์กล้วยไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศมากขึ้น
“ประเทศไทยมีแหล่งผลิตไม้ดอกไม้ประดับกระจายทั่วทั้งประเทศสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ จากข้อมูลในปี 2566 ประเทศไทยส่งออกไม้ดอกไม้ประดับมูลค่ารวม 4,474 ล้านบาท โดยส่งออกกล้วยไม้มากที่สุด 2,682 ล้านบาท ประเทศผู้นำเข้าไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ จากรายงานสินค้าเกษตร (Situation Report) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประจำเดือน พฤษภาคม 2567 ประเทศไทยส่งกล้วยไม้ตัดดอก มีมูลค่าการส่งออก 48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน” นางนฤมล ระบุ