ขณะที่ผมเตรียมตัวจะเขียนต้นฉบับวันนี้ในบ่ายแก่ๆของวันจันทร์ ก็มีข่าวแพร่สะพัดไปทั่วสำนักข่าวออนไลน์ว่า ได้มีการเลื่อนการพิจารณาว่าจะเลือกท่านใดมาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จากแคนดิเดตเดิม 3 ท่าน ออกไปอีก 1 สัปดาห์

จากวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายนเป็นวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน

เหตุผลสั้นๆที่ท่านประธานคณะกรรมการแจ้งต่อผู้สื่อข่าวก็คือ เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลแต่เบื้องหลังและข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร โปรดติดตามต่อไปครับ...

ในระหว่างที่รอคอยอยู่นี้ผมได้รับจดหมายจากท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนเก่าแก่ของผมรายหนึ่ง ส่งเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับแบงก์ชาติมาให้ผมอ่านว่าด้วย “โลโก้” หรือตราสัญลักษณ์ของแบงก์ชาติ มีรายละเอียดดังนี้ครับ

เรียนคุณซูม ผมห่วงใยกรณีแบงก์ชาติมาก และไม่เห็นด้วยที่จะมีการแต่งตั้งบุคคลทางการเมืองไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแบงก์ชาติ และในฐานะที่ผมเป็นคนหัวโบราณ อ่านแล้วก็นึกถึงเรื่องโบราณทำนองไม่เชื่ออย่าลบหลู่เกี่ยวกับตราสัญลักษณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงขอคัดลอกคำบรรยายส่งมาให้คุณซูมอ่าน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยครับ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ตั้งขึ้น พ.ศ.2483) เดิมชื่อสำนักงานธนาคารชาติไทย มีฐานะเป็นทบวงการเมืองสังกัดกระทรวงการคลัง จึงใช้ตรา “นกวายุภักษ์” เช่นเดียวกับกระทรวงการคลัง แต่มีปีกและหางยาวกว่าหน่อย ไม่มีเหตุผลอธิบายไว้ แต่มีการระบุว่าพระราชทานแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์

ต่อมาใน พ.ศ.2485 ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มใช้ตราสัญลักษณ์ ซึ่ง พระพรหมพิจิตร เป็นผู้ออกแบบ โดยใช้รูป พระสยาม เทวาธิราช ในเหรียญเสี้ยว อัฐ โสฬส ซึ่งออกใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 มาดัดแปลง

...

โดยเพิ่ม “ถุงเงิน” ของชาติอันเป็นหน้าที่หลักขององค์กร (เพิ่ม) พระแสงธารพระกร ในหัตถ์ซ้าย เพื่อคอย ปกป้องผู้ที่มารุกราน และได้เปลี่ยนตอนปลายจากรูปดอกไม้มาเป็นลายดอกบัว

จนถึง พ.ศ.2514 ตราสัญลักษณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ถูกออกแบบในรูปแบบลายเส้น ต่อมามีการเพิ่มเติมสีและองค์ประกอบที่สื่อถึงความมีค่าของเงินและการเป็นผู้ดูแลสมบัติของชาติด้วย “สีเหลืองทอง” ที่ถุงเงิน (ที่) พระแสงธารพระกร และ (ที่) ชื่อ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” บนพื้นสีฟ้า

นับแต่ พ.ศ.2555 เป็นต้นมา (ซูมหมายเหตุ...หลังต้มยำกุ้ง 2540 ประมาณ 15 ปี) ตราสัญลักษณ์ได้ถูกออกแบบใหม่ให้สะท้อนความเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยที่น่าเชื่อถือ พร้อมยอมรับฟัง เข้าถึงได้ และมีความร่วมสมัยมากขึ้น

โดยลดทอนรายละเอียดของตราสัญลักษณ์ลงและกำหนดให้ใช้สีน้ำเงิน ฟ้า และเทา ซึ่งมีในองค์ประกอบของตราสัญลักษณ์เดิมเป็นสีหลักขององค์กรในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความผูกพันกับองค์กรอย่างถูกต้อง ในกรอบวัฒนธรรมใหม่ของ ธปท. “ยืนตรง– มองไกล–ยื่นมือ–ติดดิน” ซึ่งจะสะท้อนความเชื่อถือต่อ ธปท. ในการทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเงินและสถาบันการเงินของประเทศ 

กล่าวโดยสรุปแม้จะมีการเปลี่ยนแบบเปลี่ยนสีไปบ้าง แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังคงใช้พระสยามเทวาธิราชเป็นสัญลักษณ์และก็ยังคงมีถุงเงิน และมี พระแสงธารพระกร เพื่อปกป้องผู้ที่จะมารุกรานการเงินอยู่เช่นเดิม 

(ลงนาม) “แฟนเก่ามาก” 

ซูมหมายเหตุ ผมก็ขอทำหน้าที่เป็น “มิดฟิลด์” ส่งลูกต่อให้ท่านผู้อ่านได้อ่านประดับความรู้เพื่อให้ติดตามเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างได้รสได้ชาติมากขึ้น...ก็เพิ่งรู้นี่แหละว่าแบงก์ชาติเขาก็มี “ของดี” ป้องกันตัวเองเหมือนกัน (รูปสัญลักษณ์) ใครคิดจะ “รุกราน” อ่านเรื่องนี้แล้วคงต้องคิดให้ดีๆละครับ.

"ซูม"

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม