โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ แพทองธาร เตรียมยกประเด็นแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและยาเสพติด บนเวทีประชุมประเทศกลุ่มอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขงพรุ่งนี้ ก่อนบินอเมริกา-เปรู ถกผู้นำเอเปกอาทิตย์นี้
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เมื่อเวลา 08.30 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation Program Summit: GMS Summit) ครั้งที่ 8 และการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 10 ในวันพุธ-พฤหัสบดีที่ 6-7 พฤศจิกายน 2567 ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ GMS Summit ครั้งที่ 8 ครั้งนี้ ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ภายใต้หัวข้อหลัก “มุ่งสู่การเป็นประชาคมที่ดีกว่าเดิมด้วยการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”
โดยมีประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ผู้แทนสภาธุรกิจ GMS ร่วมกับผู้นำ 6 ประเทศ ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และเจ้าภาพจีน (เฉพาะมณฑลยูนนาน และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) โดยมีวิสัยทัศน์การพัฒนาเพื่อให้เป็นอนุภูมิภาคที่มีการบูรณาการมากขึ้นโดยมีเป้าหมายความเจริญรุ่งเรือง มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนทุกคนในภูมิภาคผ่านความร่วมมือ 3 เสาหลัก คือ การสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) และการสร้างประชาคม (Community)
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการประชุม GMS ครั้งที่ 8 แล้ว ยังมีการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งเป็นครั้งที่ 10 โดย สปป. ลาว ในฐานะประธานของ ACMECS กำหนดจัดการประชุมครั้งนี้ภายใต้หัวข้อ “มุ่งสู่ความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อเพื่อการรวมตัวของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” โดยมีสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา โดยมีเป้าหมายเพื่อทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ 3 สาขาหลักของแผนแม่บท ACMECS ปี ค.ศ. 2019-2023 ได้แก่ 1. ความเชื่อมโยงไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity) 2. การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized Economies) และ 3. การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS) ทั้งนี้ ประเทศเมียนมาจะเป็นประธานวาระต่อไปปี 2568 – 2569
...
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ประเทศไทยต้องการผลักดันบทบาทในมิติอื่น ๆ เช่น การเป็นผู้ประสานงานกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ACMECS รวมถึงการแก้ปัญหาความท้าทายร่วม โดยเฉพาะประเด็นอาชญากรรมข้ามพรมแดน มลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดย ACMECS จัดตั้งขึ้นด้วยการริเริ่มของประเทศไทยเมื่อปี 2546 เป็นกรอบความร่วมมือเดียวที่มีสมาชิกเฉพาะประเทศลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม มีวัตถุประสงค์เพื่อลดช่องว่างทางการพัฒนาในอนุภูมิภาค และสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน ปัจจุบันดำเนินการตามแผนแม่บท ACMECS ค.ศ. 2019-2023 และประเทศไทยให้ความสำคัญต่อกรอบ ACMECS ในฐานะแกนกลางที่เป็นจุดเชื่อมต่อของกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในอนุภูมิภาค
จากนั้น ในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายนนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปกที่กรุงลิมา ประเทศเปรู