เกิดวาทกรรมในสังคมไทยกับคำว่า “คลั่งชาติ-รักชาติ” อันเนื่องมาจากพื้นที่เขตติดต่อระหว่างไทย–กัมพูชาว่าด้วยผลประโยชน์อันมหาศาลใต้ทะเล
ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งมีทรัพยากรทั้งก๊าซ-น้ำมัน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศต่างก็ต้องการที่จะนำขึ้นมาใช้
เพราะต่างก็มีความจำเป็นที่จะใช้ทรัพยากรเหล่านี้ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลโดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งต้องใช้น้ำมัน-ก๊าซและไฟฟ้าซึ่งมีราคาแพง
อีกทั้งโลกได้เปลี่ยนไปจากเดิมกำลังหันมาใช้ทรัพยากรสะอาด-สีเขียว อนาคตต่อไปราคาน้ำมัน-ก๊าซก็จะถูกลง
หากไม่รีบนำขึ้นมาใช้
ไทย-กัมพูชาอยู่ในภาวะที่ไม่ต่างกัน และต้องการนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้
พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลของไทยนั้นมีหลายพื้นที่ไม่ใช่แค่กัมพูชาเท่านั้น เขตพื้นที่ระหว่างไทย-เวียดนามก็มี ไทยกับมาเลเซียก็มี
แต่สามารถตกลงกันและนำทรัพยากรมาใช้ด้วยการแบ่งคนละครึ่งมานานแล้ว
ที่มีปัญหาก็คือไทย–กัมพูชา...นี่แหละ
เนื่องจากสมัยที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ไทย-กัมพูชาได้ทำข้อตกลงเอ็มโอยู หากจะเจรจาพื้นที่ทับซ้อนจะใช้เอ็มโอยู 44 เป็นพื้นฐานการเจรจา
นี่แหละที่ทำให้เกิดปัญหาเพราะ...
เกิดความเห็นที่ต่างกันระหว่าง 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาลปีปัจจุบัน (เพื่อไทย) ที่ยืนยันชัดเจนว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับการที่ไทยจะเสีย “เกาะกูด” ให้กัมพูชาแต่อย่างใด
แต่อีกฝ่ายบอกว่าไทยจะเสีย “เกาะกูด” แน่หากมีเจรจาเรื่องนี้
ต่างฝ่ายต่างก็งัดเหตุผลมาสนับสนุนความคิดของตัวเอง
ประเด็นก็คือไม่มีฝ่ายไหนที่จะยืนยันได้ว่าอันไหนถูกอันไหนผิด ทั้งๆที่เรื่องนี้ฝ่ายรัฐบาลน่าจะตอบและให้ข้อมูลที่ถูกต้องได้เพราะเป็นฝ่ายทำสัญญา
...
แต่ด้วยความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน อธิบายอย่างไรก็ไม่มีใครเชื่อ
นั่นเพราะภาพความสัมพันธ์ระหว่าง “ทักษิณ-ฮุน เซน” ที่มีความแนบแน่นจนเกิดความรู้สึกต่างฝ่ายต่างตกลงที่จะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
“กัมพูชา” เอาเกาะกูดไป
“ทักษิณ” เอาส่วนต่างจากทรัพยากรใต้ทะเลไป
ยิ่งตอนที่ “ทักษิณ” กลับมาถึงเมืองไทย “ฮุน เซน” แขกชาวต่างประเทศคนแรกได้บินมาเยี่ยมถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า จากนั้น “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ยังเดินทางไปเยือนกัมพูชาตามคำเชื้อเชิญ
มันจึงเป็นภาพที่ติดตาตรึงใจถึงความสัมพันธ์บนผลประโยชน์
แน่นอนว่าหากยังไม่มีการเจรจาปัญหาก็ไม่มีอะไร ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม เกาะกูดยังเป็นของไทย 100%
แต่ถ้าเริ่มเจรจาจะเป็นอะไรก็ไม่มีใครทราบได้!
รัฐบาลปัจจุบันนั้นต้องการเจรจาเพื่อนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ เนื่องจากปัญหาพลังงานราคาแพง
แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนทำให้คนเชื่อได้
จะเลิกสัญญาเอ็มโอยู 44 ก็เกิดปัญหากับกัมพูชา
ทำไปทำมาก็ตกอยู่ในภาวะชะงักงันอย่างนี้
แน่นอนว่าสถานการณ์อย่างนี้รัฐบาลย่อมได้รับความเสียหาย เพราะถูกโจมตีว่า “ขายชาติขายแผ่นดิน”
อีกด้านก็ไม่สามารถนำทรัพยากรขึ้นมาใช้ได้
นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลกำลังประสบมรสุมจากการถูกโจมตี และรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจากปัญหาเดิมที่หนักอยู่แล้ว
ถ้าไม่เลิกเอ็มโอยู 44 ก็ต้องให้คำตอบที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือได้!
“สายล่อฟ้า”
คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม